รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล คริสต์ศาสนา แม่ชี และดนตรีร็อค ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC รายงานถึงความโด่งดังของคณะแม่ชีนักร้องที่ใช้ชื่อวงว่า Siervas ในประเทศเปรู กระแสความนิยมวงดนตรีแม่ชีกลุ่มนี้ถือเป็นความพิเศษในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อแนวเพลงที่แม่ชีบรรเลงนั้นเน้นไปที่ “เพลงร็อค” แต่ที่จริงเพลงร็อคกับศาสนาคริสต์นั้นมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานกว่านั้น จนในแง่หนึ่ง เราอาจพูดได้ว่า การถือกำเนิดขึ้นของเพลงร็อคในช่วงแรกๆ เกี่ยวพันอยู่กับเรื่องของศาสนาคริสต์อย่างแยกไม่ออกทีเดียว เพราะแรกเริ่มของกระแสดนตรีร็อค รากฐานอันหนึ่งของมันคือเพลง “บลูส์” และเพลงบลูส์นี้ก็สัมพันธ์อยู่กับบทเพลงสวดประเภท Gospel ที่ชาวอัฟริกัน-อเมริกันผิวดำใช้ขับร้องกันในโบสถ์นั่นเอง เพลงศาสนาของคนดำเหล่านี้มีประวัติว่าเริ่มปรากฏขึ้นนานแล้ว แต่มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนก็เมื่อเกิดการสร้างโบสถ์ของคนดำแพร่หลายในเขตเมืองต่างๆ โดยเฉพาะโบสถ์ในเครือข่ายของ The Original Church of God ที่มีสาขาแพร่หลายอยู่ในรัฐเทนเนสซี ในทศวรรษที่ 1910s และความล้ำหน้าของโบสถ์ในเครือข่ายนี้ก็คือการปล่อยให้ผู้ศรัทธาสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระขณะร้องเพลงสวด ซึ่งแน่นอนว่านี่คือการผนวกความเชื่อทางศาสนาคริสต์เข้ากับวิถีดั้งเดิมในศาสนาผีของคนดำ ส่งผลให้ผู้ศรัทธาทำดนตรีประกอบการเต้นรำ ปรบมือ เปล่าเสียงร้องโหยไห้ และครวญท่วงทำนองในแบบเฉพาะของคนดำ อันเป็นบุคลิกที่โดดเด่นของดนตรีประเภท Gospel มานับแต่นั้น และที่น่าสนใจกว่านั้น คือการที่โบสถ์คนดำเหล่านี้ มักมีจำนวนผู้ศรัทธาที่เป็นสตรีมากกว่าบุรุษ ใน Women, Music, Culture: An Introduction ของ Julie C. Dunbar อ้างว่าในระยะนั้น มีผู้สังเกตการณ์จดบันทึกไว้ว่า สัดส่วนของผู้หญิงกับผู้ชายในโบสถ์คนดำมีมากกว่าถึง 2 ต่อ 1 และในบางกรณี ถึงกับสูงถึง 50 ต่อ 1 ดังนั้น นักร้องนักดนตรีคนสำคัญๆ ในแนวเพลงประเภทนี้ตั้งแต่แรก จึงเป็นสตรี (แม้กระทั่งจนปัจจุบัน นักร้องหญิงคนดำที่โด่งดังจำนวนมากก็ล้วนแล้วมีพื้นฐานการร้องเพลงแรกเริ่มมาจากในโบสถ์เกือบทั้งสิ้น เช่น Toni Braxton, Aretha Franklin, และ Tina Turner ฯลฯ) และนักร้อง-นักกีตาร์คนสำคัญคนหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1930 ก็คือ Sister Rosetta Tharpe (ค.ศ. 1915-1973 หรือ พ.ศ. 2458-2516) Rosetta Tharpe เป็นอัจฉริยะทางดนตรี เธอเริ่มเล่นกีตาร์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ และออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตทั่วสหรัฐฯ กับมารดาตั้งแต่เด็ก เครื่องดนตรีของ Tharpe พิเศษกว่าเครื่องดนตรีดั้งเดิมอย่างเปียโน ตรงที่มันคล่องตัว และสามารถสะพายออกไปยืน-เคลื่อนไหวอยู่บนเวทีได้อย่างคล่องแคล่ว (นักร้องเพลงร็อคชื่อดังอย่าง Elvis Presley หรือคนอื่นๆ ในช่วงเดียวกันล้วนได้รับอิทธิพลมาจากการแสดงของ Tharpe อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง) และที่ยิ่งกว่านั้น คือ Tharpe เป็นสตรีคนแรก ที่นำเพลงสวดในศาสนาคริสต์เข้าไปยังปริมณฑลของธุรกิจบันเทิง เธอเคลื่อนศรัทธาในศาสนา เข้าสู่วงโคจรของวัฒนธรรมป๊อป และเริ่มออกแสดงในไนต์คลับและโรงละครตั้งแต่ในราวปี 1938 และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเธอได้เปิดการแสดงใน Cotton Club ซึ่งเป็นไนต์คลับสำหรับคนขาวระดับสูง (คลับแห่งนี้ถือเป็นสถานที่สำคัญของนักดนตรีคนดำที่เก่งๆ และยังเคยจ้างนักดนตรีอย่าง Duke Ellington และ Louise Armstrong มาแสดง) เรื่องราวของ Tharpe ได้รับการทำสกู๊ปพิเศษโดยนิตยสาร Life ในปี 1939 และส่งผลให้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นในวงกว้างเป็นอย่างมาก ในไนต์คลับ Tharpe เปลี่ยนสไตล์การแต่งกายจากเดิมที่เคยเรียบร้อยเคร่งขรึม (แบบแม่ชี) มาเป็นฉูดฉาดจัดจ้าน เพิ่มสีสันในการแสดง และยังเขียนเนื้อร้องเพลงศาสนาในแนวใหม่ ให้มีความคลุมเครือ สามารถก้าวข้ามพรมแดนของศาสนาและฆราวาสไป-มาได้อย่างน่าทึ่ง เช่นประโยคอย่าง “I need you in my life” - “ชีวิตฉันต้องการเธอ” นั้น ย่อมสามารถฟังให้โรแมนติคแบบความรักของคนหนุ่มสาวก็ได้ หรืออาจจะฟังให้เป็นการภาวนาถึงพระเจ้าในลักษณะที่ใกล้ชิดและเป็นส่วนตัวมากๆ ก็ย่อมได้ (ขนบการเขียนเนื้อเพลงศาสนาในลักษณะนี้ยังได้รับการสืบทอดมาจนปัจจุบันในดนตรีประเภท Christian Rock) แต่ทั้งหมดนั้น ย่อมทำให้เธอได้รับคำตำหนิจากผู้ศรัทธาศาสนากลุ่มอื่นจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเธอ (ที่จริงแม้กระทั่งในกลุ่มผู้ศรัทธาฟากเดียวกัน ส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเธอ) โดยกล่าวหาว่าเธอทำให้ศาสนาแปดเปื้อนด้วยการนำเพลงเหล่านี้ไปใช้อย่างไม่สำรวม และเพื่อการหาเงิน นี่เองที่อาจเป็นสาเหตุให้ความนิยมของเธอลดต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วงปลายชีิวิต และเมื่อเธอเสียชีวิตลงในปี 1973 ข่าวมรณกรรมของเธอก็ได้รับการให้ความสนใจน้อยมาก ในหน้าหนังสือพิมพ์ของคนดำ ขณะที่สไตล์ดนตรีและการเขียนเนื้อร้องของเธอ กลับยังยืนยงเป็นแรงบันดาลใจและมรดกสำคัญที่ตกทอดมาเป็นเพลงร็อคอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน Sister Rosetta Tharpe