ที่รัฐสภา พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) แถลงความคืบหน้าการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สปท. เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ได้ทบทวนเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ตามที่วิปสปท. ให้ความเป็นห่วง โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่มีปลัดกระทรวง 4 คน ร่วมเป็นกรรมการฯ ซึ่งกมธ.เห็นควรให้คงสัดส่วนกรรมการสภาวิชาชีพไว้ที่ 13 คน ตามเดิม แต่มีการเสนอให้ลดโควตาตัวแทนภาครัฐลงจากเดิม ซึ่งมีแนวทางที่เสนอมาหลายรูปแบบเช่น 1. การลดโควตาปลัดกระทรวง จาก 4 คน เหลือ 2 คน แล้วนำโควตาไปเพิ่มตัวแทนสื่อและตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิอย่างละ 1 คน 2.การลดโควตาปลัดกระทรวง จาก 4 คน เหลือ 2 คน แล้วนำโควตาไปเพิ่มตัวแทนสื่อ 2 คน ทำให้ภาคสื่อมีตัวแทนในสภาวิชาชีพเพิ่มเป็น 7 คน 3.การให้มีปลัดกระทรวงเป็นตัวแทนภาครัฐ 4 คนเท่าเดิม แต่ให้เขียนบทเฉพาะกาลว่า เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ปลัดกระทรวงทั้ง 4 คนต้องพ้นหน้าที่ไป แล้วนำโควตาไปเพิ่มให้ตัวแทนภาคอื่นๆ แนวทางทั้งหมดเหล่านี้ กมธ.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางใด โดยจะประชุมกมธ.อีกครั้งในวันที่ 21 ก.พ.เพื่อหาข้อสรุปว่า กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 13 คน จะมีสัดส่วนจากภาคใดบ้าง “ข้อเสนอครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ใจให้เห็นว่า สปท.สื่อสารมวลชนไม่ได้เสนอโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เพื่อไปแทรกแซงการทำงานสื่อ ส่วนเหตุผลที่ยังให้มีตัวแทนภาครัฐในโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ เนื่องจากภาคราชการ กับภาคเอกชนต้องเดินไปด้วยกัน ไม่มีประเทศใดในโลกที่ให้ภาคเอกชน หรือภาคราชการเดินไปเดี่ยวๆ เหมือนทำอาหารต้องใส่หลายๆอย่างให้อาหารอร่อยขึ้น”พล.อ.อ.คณิต กล่าว พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า แนวโน้มผลการประชุมของกมธ.ในวันที่ 21 ก.พ. คงจะปรับลดโควตาปลัดกระทรวงในโครงสร้างกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติลงมา โดยเฉพาะปลัดกระทรวงการคลังที่หลายฝ่ายเกรงกัน จะไม่ให้อยู่ในโครงสร้างดังกล่าว จะให้มีสัดส่วนของภาครัฐอยู่ในกรรมการสภาวิชาชีพให้น้อยที่สุด เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย