เก๋งขับตัดหน้ารถไฟ ถูกชนเต็มแรง ลากติดไปกว่า 30 เมตร ส่งผลมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 3 ราย พบเก๋งทำประกันชั้นหนึ่งและพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้ วิริยะฯส่อเค้าจ่ายอ่วมค่าซ่อมคอสะพาน รางรถไฟ และโบกี้ให้การรถไฟ โดยพบเก๋งซื้อประกันคุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกไว้สูงถึง 5 ล้านต่อครั้ง ตามที่ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อเวลา 22.30 น.ของวันที่ 19 ก.พ.60ที่ผ่านมา โดยเกิดเหตุรถไฟขบวนที่ 38 สุไหงโกลก- กรุงเทพฯ ชนกับรถยนต์เก๋ง โตโยต้า วีออส สีดำ ทะเบียน กธ 4647 นครศรีธรรมราช ตรงบริเวณจุดตัดทางข้ามรถไฟ โดยไม่มีแผงกั้น พื้นที่ ม.4 ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี โดยรถไฟลากรถเก๋งติดไปด้วยเป็นระยะทางประมาณ 30 เมตร ส่งผลให้มีผู้โดยสารในรถเก๋งเสียชีวิต 1 คน คือ นาย สมโภชน์ เสสล (เส-สน) อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/2 หมู่ที่ 2 ต.มะม่วงสองต้น อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 3 ราย ได้แก่ ด.ญ. รุ่งทิวา แสงสุวรรณ อายุ 12 ปี กระดูกไหปลาร้าหัก รักษาตัวที่โรงพยาบาลเวียงสระ นาย จตุพร รุ่งเรือง อายุ 18 ปี บาดเจ็บที่ศีรษะ ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และนางสาวพัชรี เพ็งประพันธ์ อายุ 33 ปี บาดเจ็บศีรษะกับบาดเจ็บในช่องท้อง ส่งรักษาต่อโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โดยรถเก๋งคันดังกล่าวเดินทางมา 4 คน จาก ต.เขานิพันธ์ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี กำลังเดินทางไป จ.นครศรีธรรมราช พอถึงที่เกิดเหตุ ไม่มีแผงกั้นทางรถไฟ จึงได้ขับรถตัดหน้ารถไฟอย่างกระชั้นชิด จึงถูกรถไฟชนและลากไปไกลประมาณ 30 เมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสดังกล่าว กระทั่งกู้ภัยต้องใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง นำผู้บาดเจ็บออกจากรถได้ โดยสภาพรถถูกอัดก๊อปปี้ยับเยิน ส่วนผู้โดยสารบนรถไฟไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ซึ่งรถไฟเสียเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงจึงจะเดินทางต่อไปได้ ทั้งนี้คอสะพานรถไฟ และราง พร้อมกับตู้รถไฟได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุครั้งนี้หนักพอสมควร อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลประกันภัยแล้ว ปรากฎว่า รถเก๋งคันดังกล่าวได้ทำประกันพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้ตามกรมธรรม์เลขที่ 5947037946346 และกรมธรรม์ประกันรถประเภทหนึ่งไว้ตามกรมธรรม์เลขที่ 59703018309 ซึ่งทั้งพรบ.ฯและประกันชั้นหนึ่งจัดทำประกันภัยไว้กับบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) โดยกรมธรรม์ประกันชั้นหนึ่งจะคุ้มครองความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกสูงสุดถึง 5 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทวิริยะฯคงจะรับผิดชอบซ่อมแซมความเสียหายของทางการรถไฟในส่วนนี้ ซึ่งหากมีการซ่อมแซมแล้วพบว่าค่าซ่อมสูงและเกินวงเงินที่บริษัทวิริยะฯกำหนดไว้ ทางการรถไฟก็คงจะต้องไปเรียกร้องส่วนเกินกับเจ้าของรถเก๋งที่เป็นฝ่ายละเมิดต่อไป