อ.ส.ค.เดินเครื่องบรรจุนม ยู.เอช.ที และ นมพาสเจอร์ไรส์ แบบ “ไฮสปีด” ที่โรงงานมวกเหล็ก-ขอนแก่นเต็มพิกัด ขยายกำลังผลิตรองรับน้ำนมดิบได้เพิ่มกว่า 180-200 ตัน/วัน ตั้งป้อมรับมือปัญหานมล้นตลาด พร้อมเสริมขีดความสามารถแข่งขันทางการค้า ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อ.ส.ค.ได้เริ่มเดินเครื่องบรรจุนม ยู.เอช.ที แบบไฮสปีด (High Speed) ที่ติดตั้งใหม่ในโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม 2 แห่งแล้ว คือ โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคกลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน 3 เครื่อง มีกำลังการผลิต 24,000 กล่อง/ชั่วโมง/เครื่อง จากเครื่องเดิมที่เป็นแบบโลว์สปีด (Low Speed) กำลังผลิตชั่วโมงละ 5,000 กล่อง/เครื่อง สามารถรองรับปริมาณน้ำนมดิบได้สูงขึ้นจาก 210-220 ตัน/วัน เพิ่มเป็น 250-300 ตัน/วัน และโรงงานนม อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 2 เครื่อง โดยกำลังผลิต 7,500 กล่อง/ชั่วโมง/เครื่อง สามารถรองรับน้ำนมดิบได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 120 ตัน/วัน เป็นวันละ 150 ตัน การนำเครื่องบรรจุแบบไฮสปีดมาใช้ทำให้โรงงานแปรรูปนม อ.ส.ค.ทั้ง 5 แห่ง มีศักยภาพรองรับน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และศูนย์รวบรวมนมดิบ ประมาณ 48 แห่ง ที่ลงนามบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำนมโค (MOU) กับ อ.ส.ค.ได้สูงถึง 700-750 ตัน/วัน จากปัจจุบันที่มีน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูปเฉลี่ยวันละ 600 ตัน ซึ่งเป็นการขยายกำลังผลิตเตรียมพร้อมรองรับปริมาณน้ำนมโคโดยรวมที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี และเป็นการเตรียมรับมือปัญหานมดิบล้นตลาดและราคาตกต่ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต “นอกจากนั้น ยังเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงของ อ.ส.ค. และช่วยสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพให้กับสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พร้อมยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียจากการผลิต และพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศด้วย” อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อ.ส.ค.ได้เตรียมการพัฒนาเครื่องบรรจุนม ยู.เอช.ที ในโรงงานแปรรูปนม อ.ส.ค.เพิ่มเติมอีกเพื่อขยายกำลังผลิตต่อเนื่อง อาทิ โรงงานนม อ.ส.ค.ภาคใต้ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโรงงานนมขอนแก่น ขณะเดียวกันยังมีแผนสร้างความร่วมมือกับสหกรณ์โคนมที่มีศักยภาพ เช่น สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ซึ่งได้มีการลงนาม MOU เป็นพันธมิตรร่วมแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้กับ อ.ส.ค. กรณีที่ปริมาณน้ำนมดิบเกินกำลังที่ อ.ส.ค.จะรองรับได้ โดยสหกรณ์โคนมดังกล่าว จะเข้ามาช่วยรองรับน้ำนมดิบเพื่อแปรรูปเป็นนม ยู.เอช.ที และ นมพาสเจอร์ไรส์ ในอนาคต อ.ส.ค.ได้เตรียมการสร้างพันธมิตรกับสหกรณ์โคนมและภาคเอกชนที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เพื่อขยายช่องทางรองรับน้ำนมดิบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และเตรียมความพร้อมรับปัญหานมดิบล้นตลาดในระยะยาวด้วย