“บิ๊กตู่” แนะ “ม็อบโรงไฟฟ้า” ไปศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน อย่าฟังข้อมูลด้านเดียว “ไก่อู” รับลูก ยันไม่ได้เสี้ยมให้สร้าง วอน ทุกฝ่าย อย่าตีความคำพูดจนเกิดความเข้าใจผิด ยันเดินหน้าทำ EHIA ใหม่ เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 21 ก.พ.60 ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม. เรื่อง การหาทางออกกรณีการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีการนำมาพิจารณาร่วมกันในที่ประชุม ครม.แต่อย่างใด โดยให้ดำเนินการตามมติจากการประชุมของคณะกรรมการนโยยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีติว่า ให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้า กลับไปดำเนินการตามขั้นตอน รายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพหรือ EHIA รวมทั้งขั้นตอนอื่นๆ ก่อนที่หาข้อสรุป ว่าสามารถสร้างได้หรือไม่ หากสร้างไม่ได้ก็ถือว่าจบโครงการ ก่อนที่จะมองถึงวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าชนิดใหม่ หรือ จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อื่นอย่างไร อย่างไรก็ตามยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่มีความมั่นใจว่า หนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการ EHIA ที่ผ่านมา ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งนี้ในที่ประชุม ครม. วันนี้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีเวลาทบทวนตัวเอง ในห้วงเวลาที่ไม่มีความขัดแย้งในขณะนี้ โดยเฉพาะพี่น้องที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ว่า ข้อมูลต่างๆที่ได้รับจากคนรอบข้างนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือพื้นที่จ.กระบี่ เคยมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ในช่วงปี พ.ศ. 2507-2538 หรือไม่ และหากมีจริง โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งและแหล่งท่องเที่ยวตามที่ท่านเป็นกังวลหรือไม่ ขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียมีโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหิน 7 โรง โดยทั้งหมดตั้งอยู่ติดบริเวณพื้นที่ชายฝั่งตลอดแหลมมลายู อยู่ที่รัฐเนเกรี เซมบิลัน 1 โรง รัฐเปรัค 1 โรง รัฐซาลาวัค 3 โรง รัฐซาลังงอร์ 1 โรง รัฐยะโฮร์ 1 โรง และหากในอนาคตพื้นที่ในภาคใต้ของประเทศไทยเกิดปัญหาขาดกระแสไฟฟ้า เราต้องไปขอซื้อกระแสไฟฟ้าจาก โรงไฟฟ้าถ่านหินของมาเลเซีย เราจะรู้สึกอะไรหรือเปล่า โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีก ในอดีตทีผ่านมา มีการประท้วงหลายกรณี อาทิ การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีกาปรระท้วงจนทำให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง จนประเทศเพื่อนบ้านของเราสร้างสนามบินขนาดใหญ่ ที่ทำให้ประเทศดังกล่าวกลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมทางอากาศของภูมิภาค แต่ทั้งหมดที่ตนพูดไม่ได้เป็นการชี้นำว่าควรจะมีหรือไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เมื่อถามว่า หากต้องมีทำรายงาน EHIA ใหม่ จะส่งผลต่อความล่าช้าจากแผนเดิมอย่างไรบ้าง พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ตามแผนเดิมคาดว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2565 แต่เมื่อมีการแก้ปัญหาร่วมกันใหม่นั้น คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2567 แต่หากมีการเร่งรัดขั้นตอนในการธุรการ โดยไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการปฏิบัติ อาจจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2566 “เรื่องนี้ไม่ได้มีใครแพ้ หรือชนะ คำพูดอาจต่างกันในบางคำพูด อย่าง รัฐบาลใช้คำว่า ให้กลับไปดำเนินการในขั้นตอนที่ยังขาดความชัดเจน ให้เกิดความชัดเจนในทุกประเด็นโดยนำเอามติของ คณะผู้ชำนาญการทั้งเรื่องโรงไฟฟ้า ท่าเรือ กว่า 400 ประเด็นและมติของคณะกรรมการไตรภาคี และความเห็นจากภาคประชาชน ไปพิจารณาร่วมด้วย ขณะที่ทางฝั่งผู้ชุมนุมใช้คำว่า เซตซีโร่ นั่นคือการเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งแม้คำจะแตกต่างกัน แต่โดยวิธีการปฏิบัตินั้นเหมือนกัน แต่หากวันข้างหน้าเราไม่สามารถสร้างอะไรได้เลย ทุกคนเป็นกังวลไปหมด ท่านก็ต้องประหยัดไฟ เพราะไม่มีวิธีการอย่างอื่นอีกแล้ว ทั้งภาคประชาชน ภาคอุตสหากรรม ภาคการท่องเที่ยว” พล.ท.สรรเสริญ ระบุ