อธิบดีกรมศิลปากรร่วมทาสีทดสอบตั้งเสาเอก เผยเป็นพระเมรุมาศเหล็กทั้งหลัง ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา สั่งติดสายล่อฟ้าตั้งแต่เริ่มตั้งเสาเคลื่อนเข้าสนามหลวง วันที่ 22 ก.พ. นี้ เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 21 ก.พ.2560 นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรพร้อมคณะวิศวกรเดินทางไปยัง โรงงานบริษัท เอส ที เฟรม แอนด์ ทรัส จำกัด เลขที่ 29/4 ม 3 ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจความพร้อมในการประกอบโครงสร้างเหล็ก สำหรับใช้ในการก่อสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนการเคลื่อนย้ายไปประกอบในพิธียกเสาเอกพระเมรุมาศ ในวันจันทร์ที่ 27 ก.พ. นี้ โดยเมื่อเดินทางไปถึงได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปขั้นตอนดำเนินงานของทางโรงงาน ตั้งแต่เริ่มประชุมวางแผน จนถึงขั้นตอนการประกอบ นายกิตติพงศ์ ผ่องอ่อน รองกก.ผจก.บริษัท เอส ที เฟรม แอนด์ ทรัส จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา จากนั้นมีการวางแผนการทำงานและเริ่มดำเนินการทั้งกลางวันกลางคืนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นงานเร่งด่วน ภายในข้อกำหนดที่ต้องสอดคล้องทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ต้องลงตัว แต่ต้องมีความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ซึ่งชิ้นส่วนที่ใช้ในการก่อสร้างประกอบพระเมรุมาศนี้ส่วนใหญ่เป็นเหล็กกล่องที่มีความสะดวกในเรื่องการเคลื่อนย้ายและประกอบ แต่มีความแข็งแรงโดยมีชิ้นส่วนประกอบจนแล้วเสร็จชิ้นเล็กชิ้นน้อยรวมประมาณ 4.5 หมื่นชิ้น น้ำหนักประมาณ600-650 ตัน โดยในส่วนที่ดำเนินการแล้วเสร็จนี้ เป็นเสาเอก เสาโท และเสาที่ 3 และ 4ซึ่งมีความสูงต้นละประมาณ 21.70 เมตร และเมื่อรวมประกอบจะสูงต้นละ 23.50 เมตรน้ำหนักเสาต้นละประมาณเกือบ 20 ตัน และส่วนของซูเปอร์ทรัส ซึ่งเป็นฐานรองด้านล่างสำหรับตั้งเสาทั้ง 4 ต้น โดยซูเปอร์ทรัสนี้จะแยกออกเป็น 8 ชิ้น เพื่อรับน้ำหนักแบบกระจายเมื่อประกอบฐานล่าง ถึงยอดฉัตรก็จะมีความสูงถึง 50.40 เมตรนับเป็นพระเมรุมาศที่ใหญ่และสูงที่สุดกว่าทุกรัชกาลที่เคยมีมา โดยแบบที่นำมาสร้างนี้เป็นแบบทีล้อมาจากรัชกาลที่ 5 โดยในช่วงเย็นวันที่ 22 ก.พ. เวลา 16.49 น. จะได้ทำการเคลื่อนย้ายเสาเอก และซูเปอร์ทรัส ไปยังท้องสนามหลวง ใช้รถเทลเลอร์ 5 คันในการขนส่ง คาดว่าถึงสนามหลวงเวลา 23.00 น.วันเดียวกัน จากนั้นก็จะเริ่มประกอบซูเปอร์ทรัสและตั้งแนวเสาเอก โดยใช้เวลาตลอดวันที่ 23 ก.พ. จนเสร็จสิ้น จากนั้นก็จะนำเสาต้นที่ 3-4 ตามไป จนวันที่ 24 ก.พ. พล.อ.ธนศักดิ์ ปฎิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินมาทำการทดสอบความพร้อม ก่อนที่จะมีพิธียกเสาเอกในวันที่ 27 ก.พ. เวลา 10.00 น.โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งหลังจากนายกรัฐมนตรียกเสาเอกแล้ว และเดินทางกลับทางบริษัทฯและทีมบริษัทที่ติดตั้งก็จะประกอบในส่วนเสาที่เหลือทันที ซึ่งการประกอบส่วนอื่นๆจะเริ่มในวันที่ 10 มี.ค.ไปจนถึงวันที่ 31 เม.ย.รวม 2 เดือนครึ่ง ก่อนที่จะเป็นหน้าที่ของการประกอบงานสถาปัตยกรรม งานไม้ทั่วไป ซึ่งโครงเหล็กทุกอย่างมีการประกอบเชื่อมจากโรงงานเป็นส่วนใหญ่ นายอนันต์ ชูโชติ กล่าวว่า การตรวจติดตามครั้งนี้ถือว่าผู้รับจ้างดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ ซึ่งจากนี้ไปทางบริษัทจะทยอยส่งชิ้นส่วนจนครบประมาณเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตามการก่อสร้างพระเมรุมาศในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล่าสุดบริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศใต้คณะช่างได้เทปูนฐานรากและตั้งโครงเหล็กตัวอาคารพระเมรุมาศเพื่อรองรับพิธียกเสาเอกในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ขณะเดียวกัน คณะช่างสำนักสถาปัตยกรรม และสำนักช่างสิบหมู่เร่งปฏิบัติที่โรงขยายแบบชั่วคราวทั้ง 4 โรง ประกอบด้วย อาคารขยายแบบสถาปัตยกรรมอาคารขยายแบบพระโกศจันทน์ อาคารปั้นหล่อประติมากรรม อาคารเขียนสีและตกแต่งองค์ประกอบ พร้อมกันนี้ สำนักช่างสิบหมู่ได้ถอดแบบแม่พิมพ์ของประติมากรรมมหาเทพ องค์พระพรหม ซึ่งการจัดสร้างประติมากรรมจะปั้นขึ้นรูปที่สำนักช่างสิบหมู่ เนื่องจากหุ่นปั้นต่างๆ มีขนาดสูง เช่น องค์มหาเทพมีขนาดสูงมากกว่า 3 เมตร แต่เมื่อดำเนินการปั้นเสร็จ จะเคลื่อนย้ายไปโรงหล่อประติมากรรมท้องสนามหลวง เพื่อจัดทำแบบแม่พิมพ์ หล่อไฟเบอร์และลงสี จากนั้นนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรได้ร่วมกับคณะทำงานและผู้บริหารทาสีเสาประกอบพระเมรุมาศซึ่งเสาพระเมรุมาศจะมีการทาสีสองชั้นคือชั้นแรกเป็นสีรองพื้นและสีกันไฟเนื่องจากต้องมีความร้องเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความหนา 500 ไมคอน อธิบดีกรมศิลปากรเปิดเผยว่าจากการตรวจสอบการก่อสร้างโครงเหล็กเป็นไปตามแบบของวิศวกรที่ออกแบบและยังมีความมั่นคงแข็งแรงอย่างมาก โดยเฉพาะเป็นพระเมรุมาศ ที่มีความสูงอย่างมากจึงต้องมีเรื่องการคำนวณเรื่องแรงลม อีกทั้งยังเป็นเหล็กทั้งหลังจึงมีความจำเป็นทีจะต้องมีการติดตั้งสายล่อฟ้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มติดตั้งในวันที่ 24 ก.พ. นี้เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้โครงสร้างเหล็กดังกล่าวสามารถประกอบได้อย่างรวดเร็วและมีความแข็งแรง ซึ่งช่วงที่มีการติดตั้งเสาพระเมรุนั้นก็จะใช้รถเครนถึง 5 คันซึ่งมีขนาดรับน้ำหนักได้ถึง 200 ตันต่อคัน และเชื่อว่าทุกอย่างจะเสร็จทันตามกำหนดเวลา