ปิดฉากลงแล้วอย่างยิ่งใหญ่ ทีมเรือ ศรีสตึก จ.บุรีรัมย์ ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดบุรีรัมย์ มีประชาชนและนักท่องเที่ยวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วสารทิศแห่ชมคึกคัก กว่าครึ่งแสน คาดเงินสะพัดตลอดงานหลายสิบล้านบาท

วันที่ 5 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า การจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดบุรีรัมย์ ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประจำปี 2566 ซึ่ง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม อำเภอสตึก เทศบาลตำบลสตึก ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านในอำเภอสตึก ได้ร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2566 ณ ลำน้ำมูล ณ ลำน้ำมูล บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี  หน้าที่ว่าการอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ปิดฉากลงแล้วอย่างยิ่งใหญ่ โดยมี นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์  เดินทางมาเป็นประธานปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดบุรีรัมย์ ชิงถ้วยพระราชทานฯ 

โดยในปีนี้ มีทีมเรือยาวจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 27 ลำ ร่วมประชันฝีพาย ประกาศศักดาชิงจ้าวความเร็วแห่งลำน้ำมูล แบ่งการแข่งขันเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทเรือไม้ ก ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 55 ฝีพาย จำนวน 8 ลำ ผลการแข่งขัน ชนะเลิศ ทีมเรือ ศรีสตึก จ.บุรีรัมย์ ได้ครองถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมเรือพญาชาละวัน จ.พิจิตร รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมเรือศรพลายวาต จ.บึงกาฬ รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล และรองชนะเลิศอันดับ 3 ทีมเรือสิงห์ปทุม จ.ปทุมธานี รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 

สำหรับประเภทเรือไม้ ข ขนาดกลางไม่เกิน 40 ฝีพาย จำนวน 8 ลำ ผลการแข่งขัน ชนะเลิศ ทีมเรือ เทพวชิรวิทย์ จ.ปทุมธานี ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมเรือเจ้าแม่ประดู่เงิน จ.ชลบุรี  รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมเรือสิงห์สาคร จ.อุบลราชธานี รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล และรองชนะเลิศอันดับ 3 ทีมเรือเทพเนรมิต จ.สุรินทร์ รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 

ส่วนประเภทเรือท้องถิ่น เรือโลหะ ไม่เกิน 36 ฝีพาย จำนวน 11 ลำ มีที่เดียวของประเทศไทย ผลการแข่งขัน ชนะเลิศ ทีมเรือ เจ้าปู่เหล็กไหล ได้ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมเงินรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมเรือพรยายเภา รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมเรือประมงเทวา รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล และรองชนะเลิศอันดับ 3 ทีมเรือจ้าวพายุ รับถ้วยรางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการจัดงานการแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดบุรีรัมย์ ชิงถ้วยพระราชทาน  ทั้ง 2 วัน ได้มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วประเทศ พากันเดินทางมาเที่ยวชมงานกันอย่างคึกคัก เป็นจำนวนมากกว่า 50,000 คน ซึ่งภายในบริเวณงานยังมหรสพรื่นเริงต่างๆ การจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์จากทุกท้องถิ่น ของกินของดีเมืองสตึก ให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานได้เลือกซื้อไปเป็นของฝาก และของที่ระลึก เป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวบ้าน และผู้ผลิตสินค้าโอท็อปได้เป็นอย่างดี  ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานแข่งขันเรือยาว ประเพณี จ.บุรีรัมย์ ในปีนี้จะมีเงินสะพัด จำนวนหลาย 10 ล้านบาท