ผวจ.แม่ฮ่องสอน เปิดประเพณี "ปอยจ่าตี๋" ถึง "ปอยหมั่งกะป่า" เทศกาลแห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวไต  การฟื้นคุณค่าประเพณีวิถีชุมชน การฟื้นคุณค่าประเพณีเขาวงกตและประเพณีก่อเจดีย์ทราย

เมื่อค่ำวันที่ 7 พ.ค.67 นายชูชีพ พงษ์ไชย  ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดงานประเพณีปอยจ่าตี่ถึงปอยหมั่งกะป่า เทศกาลแห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวไต พร้อมด้วย รศ.ดร.ชาตรี มโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน นายอมร  ศรีตระกูล กำนันตำบลผาบ่อง  ร่วมกับชุมชนบ้านผาบ่อง  ณ วัดผาบ่องใต้ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ประเพณีปอยจ่าตี่ถึงปอยหมั่งกะป่า  เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย ปอยหมั่งกะป่า คือการฟื้นคุณค่าประเพณีเขาวงกต จากวิถีชุมชนไทใหญ่บ้านผาบ่องสู่เทศกาลวัฒนธรรมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับชุมชนบ้านผาบ่อง  เพื่อร่วมสืบสานประเพณี ปอยจ่าตี่ หรือประเพณีก่อเจดีย์ทรายของชาวไตบ้านผาบ่อง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และบูรณาการองค์ความรู้จากงานประเพณีสู่การสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มต้น การฟื้นคุณค่าประเพณี  

ประเพณีปอยจ่าตี่ ถึง ปอยหมั่งกะป่า เป็นประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย ไปถึงงานประเพณีเขาวงกต เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่ที่นิยมจัดขึ้นในช่วงหลังทศกาลออกพรรษา โดยมีความเชื่อมาจากเวสสันดรชาดก เชื่อว่าการบูชาเขาวงกต จะบังเกิดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งโภชนอาหาร ทรัพย์ ยศ ศักดิ์ โชคลาภ และเป็นปริศนาธรรมสอนใจแก่พุทธศาสนิกชน เขาวงกตจะนิยมจัดในเมืองใหญ่ หรือชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม เพราะต้องใช้ทรัพยากรมาก และนิยมจัดติดต่อกัน 3 หรือ 5 หรือ 7 ปี จากการสืบค้นทางประวัติศาสตร์ชุมชนผาบ่องเคยจัดประเพณีเขาวงกต เมื่อ พ.ศ. 2509 - 2511 และเมื่อ พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ดีโครงการวิจัยฯ ร่วมกับชุมชน ได้ร่วมกันรื้อฟื้นการจัดปอยหมั่งกะป่าขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีอันดีงาม และพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบการรื้อฟื้นประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม โดยจะจัดในช่วงวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2567 สำหรับกิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการประกอบพิธีตัดและผ่าไม้ ที่ใช้สำหรับสร้างเขาวงกต หรือหมั่งกะป่าเป็นปฐมฤกษ์และพิธีตัดและผ่าไม้ที่ใช้สำหรับสร้างเขาวงกตต่อไป 

สำหรับหมู่บ้านผาบ่อง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนชาวไทใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงาม ชุมชนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการเกษตรและพุทธศาสนา มีประเพณีที่ดีงาม มีภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การสืบสานและต่อยอด เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถพัฒนาและต่อยอดกับภาคการศึกษา และการท่องเที่ยวซึ่งสามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนการดำเนินกิจกรรมการรื้อฟื้นปอยหมั่งกะป่าหรือประเพณีเขาวงกต เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างคณะผู้วิจัย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพร่วมกับชุมชนผาบ่อง และภาคีเครือข่าย ถือว่าเป็นกระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพ