อีกหนึ่งโรคในเด็กที่สร้างความทุกข์ใจให้พ่อแม่ ด้วยมีผลกระทบทั้งร่างกาย จิตใจ และการอยู่ร่วมในสังคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคนี้เป็นโรคระบบประสาทเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ทั่วโลกอุบัติการณ์ในเด็กประมาณ 41-187 ต่อแสนประชากร พบอุบัติการณ์สูงในขวบปีแรก ความชุกของโรคลมชักรวมทุกอายุประมาณ 4-10 ต่อ 1000 ประชากร พบมากโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับไทยประมาณการผู้ป่วยโรคลมชัก 500,000 คนเป็นผู้ป่วยเด็กประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแสดงเป็นอาการชักหลายรูปแบบ สาเหตุในเด็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุและมีความแตกต่างในแต่ละกลุ่มอายุ เช่น พันธุกรรม สมองได้รับบาดเจ็บจากการขาดออกซิเจน เลือดออกในสมอง ติดเชื้อที่ระบบประสาท หรือโครงสร้างเซลล์สมองที่ผิดปกติ เป็นต้น โรคนี้มีผลกระทบรุนแรงด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ต่อผู้ป่วยและผู้ปกครอง เด็กที่ชักบ่อยอาจมีภาวะทางสติปัญญา พัฒนาการ หรือพฤติกรรมผิดปกติร่วมด้วย การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมนอกจากทำให้เด็กหยุดชักแล้ว ยังทำให้สติปัญญา พัฒนาการ หรือ พฤติกรรมกลับมาดีขึ้นได้ด้วย ในด้านสังคม ครอบครัวมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่สามารถเรียนหนังสือ และโตขึ้นใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ผู้ป่วยโรคนี้ในเด็กประมาณร้อยละ 30 เป็นกลุ่มรักษายาก สามารถปรึกษากุมารแพทย์ระบบประสาทเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และการรักษาที่ซับซ้อน เช่น ผ่าตัดโรคลมชัก ใช้ยากันชักใหม่ๆ อาหารคีโตน เป็นต้น พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการชักในเด็กมีรูปแบบที่เฉพาะและแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น ชักผวาเป็นชุดในทารก ชักผงกหัวตัวอ่อน ชักเหม่อสั้นๆในเด็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการชักที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ไม่ทราบว่าเป็นโรคลมชักจึงไม่ได้พาไปปรึกษาแพทย์ ทำให้การรักษาล่าช้า ทำให้เด็กที่มีอาการชักดังกล่าวอาจมีพัฒนาการช้า หรือ พัฒนาการถดถอยได้ การรักษาเร็วจะช่วยให้มีโอกาสหายและพัฒนาการดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยเด็กก็อาจมีอาการชักแบบอื่นที่เหมือนกับผู้ใหญ่ เช่น ชักเกร็งกระตุกตาค้างที่เรียกว่าลมบ้าหมู ชักแบบมีพฤติกรรมแปลกๆ เป็นต้น การตรวจวินิจฉัยโรคที่สำคัญ คือ ประวัติรายละเอียดอาการชักที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กแจ้งกับแพทย์ ร่วมกับตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ดังนั้น หากพ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นบุตรหลานมีอาการชัก หรือ สงสัยพฤติกรรมที่ดูแปลกไปกว่าปกติที่เกิดซ้ำๆ ควรสอบถามรายละเอียดอาการจากผู้เห็นเหตุการณ์ หรือ ถ่ายคลิปวิดีโอขณะเด็กเกิดอาการ และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป ขณะที่การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเด็กชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว คือ 1.ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี 2. จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงป้องกันสำลัก และถ้าเห็นเศษอาหารให้กวาดออกมาจากปากได้ 3.ห้ามเอาอุปกรณ์ใดๆ รวมทั้งมือเข้าไปง้างปาก ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดว่ากลัวผู้ป่วยกัดลิ้นจึงงัดปาก ในความเป็นจริงแล้วการงัดหรือง้างปากเด็กอาจทำให้ฟันหักและตกลงไปอุดหลอดลม หายใจไม่ได้และเสียชีวิตได้ ในขณะที่เด็กกัดลิ้นแต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิตและรักษาได้ โดยทั่วไป อาการชักมักจะหยุดได้ภายใน 2-3 นาที ยกเว้นบางรายที่รุนแรงมากเกิน 5 นาที และหลังจากหยุดชักแล้วให้รีบพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการชัก มีสโลแกนให้ยึดไว้ว่า “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดได้เอง”