การพัฒนาระบบขนส่งทางราง ถือเป็นการยกระดับความสำคัญของการคมนาคมขนส่งบ้านเรา เนื่องจากมีต้นทุนการขนส่งที่ถูกที่สุด เมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ซึ่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ได้ให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง ที่ให้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟทางคู่ในเส้นทางรถไฟเดิมช่วงที่มีปัญหาความคับคั่งของการเดินรถ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าและสำหรับขบวนรถไฟท้องถิ่นให้ได้มีประสิทธิ์ภาพมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในเส้นทางที่มีการพัฒนา คือโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็น 1 ใน 5 เส้นทางรถไฟที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 รับทราบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2559 เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ประกอบด้วยโครงการ 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,796,385.77 ล้านบาท ล่าสุด “นายนิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ติดตามการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.99 หมื่นล้านบาท โดยบอกว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้า 91.8% โดยสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา–คลองขนานจิตร 58 กม. คืบหน้า 93.52% ช้ากว่าแผน 6.48% ยังมีปัญหา รฟท. ส่งมอบพื้นที่เวนคืนบางส่วนประมาณ 7% ให้ผู้รับจ้างล่าช้า เนื่องจากค่าทดแทนเดิมไม่เพียงพอ และ พ.ร.ฎ.เวนคืนหมดอายุ ซึ่งปัจจุบัน รฟท. เสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โครงการฯ อีกประมาณ 286 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว เบื้องต้นทราบว่าอยู่ในขั้นตอนสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป จากนั้น รฟท. จึงจะสามารถส่งมอบพื้นที่ เพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 65 สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ 68 กม. รฟท. ได้รับข้อร้องเรียนจากเทศบาลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา ให้ปรับแบบก่อสร้างให้เป็นทางรถไฟเป็นโครงสร้างยกระดับ ทดแทนคันดินยกระดับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณามอบหมายแนวทางได้ภายในเดือน มี.ค. 65 จากนั้นจึงจะเสนอรายงานขออนุมัติดำเนินโครงการได้ตามขั้นตอนต่อไป ขณะที่สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ระยะทางประมาณ 6 กม. คืบหน้า 90.03% ล่าช้ากว่าแผน 9.96% ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่เวนคืนบางส่วน ซึ่งพื้นที่ของโครงการบางส่วนยังไม่ได้รับการมอบพื้นที่ โดย รฟท. ต้องรอ ครม. เห็นชอบการขอเพิ่มกรอบวงเงินฯ และดำเนินการเช่นเดียวกับสัญญาที่ 1 นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา แรงงานที่ทำงานในสัญญาที่ 3 ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 200-300 คน ปัจจุบันหายดี และกลับมาทำงานได้ปกติแล้ว และสัญญาที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม คืบหน้า 11.17% ช้ากว่าแผน 29.54% โดยสาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากขอบเขตงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ อยู่ในพื้นที่สัญญาที่ 2 ประมาณ 50% ทำให้ รฟท. ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนนี้ได้ นายนิรุฒ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างเร่งปรับรูปแบบการก่อสร้างสัญญาที่ 2 เพื่อให้สามารถขออนุมัติโครงการ ประกวดราคา และก่อสร้างโดยเร็วต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน มีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่มีอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยอุโมงค์ที่ 1 อยู่บริเวณบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง (ปูนนก)-บ้านหินลับ ระยะทาง 5.85 กม. มีความยาวมากที่สุดในไทย, อุโมงค์ที่ 2 บริเวณบ้านหินลับ (เขามะกอก)-มวกเหล็ก ระยะทาง 650 เมตร และอุโมงค์ที่ 3 บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง-คลองไผ่ ระยะทาง 1.40 กม. สำหรับโครงการดังกล่าวถือเป็นไฮไลต์มีทางรถไฟยกระดับที่สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ โดยอยู่บริเวณมาบกะเบา-กลางดง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 5 กม. โดยทางรถไฟยกระดับ มีความกว้างด้านบน 10.2 เมตร มีความสูงของโครงสร้างจากระดับพื้นดินถึงระดับสันรางอยู่ที่ 40-50 เมตร สาเหตุที่ต้องยกระดับนั้น เนื่องจากระดับดินเดิมของพื้นที่จากมาบกะเบาถึงกลางดงแตกต่างกันมาก “โครงการรถไฟทางคู่ จะส่งผลดีในการเดินทางทำให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วขึ้น เพราะขบวนรถไม่ต้องรอหลีกทางกัน อุบัติเหตุเกิดลดลงรวมถึงแก้ปัญหาจุดตัดทางหลักผ่าน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนรวมถึงพนักงานขับรถ ส่วนในแง่ของการขนส่งในอนาคตจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าโดยเฉพาะเส้นทางจากจีนผ่านลาวหางานโยธาพร้อมก็สามารถขนส่งสินค้าผ่านไทยได้มากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีกับการนำเข้าและการส่งออก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนไปได้มากขึ้น “นายนิรุฒ กล่าว สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ถือเป็นรถไฟทางคู่สายสำคัญ ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยเมื่อสร้างเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและขนส่งในเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟเพื่อการเดินทางและขนส่งสินค้ามากขึ้น รวมถึงยังช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่โครงการกับระดับภูมิภาค และต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังได้ปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟตลอดแนวเส้นทางโครงการเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนที่สัญจรผ่านจุดตัดทางรถไฟอีกด้วย ด้านนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรโครงการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท. กำลังเร่งแก้ปัญหาในทุกเรื่องที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างโครงการฯ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถในช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ได้ก่อนในปี 2566 ขณะที่ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2568 เปิดให้บริการปลายปี 2569 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมของ รฟท. ที่มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการทั้งโครงการในปี 2565 จึงเป็นงานท้าทายที่การรถไฟฯ จะทำเสร็จได้ตรงตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่!?! ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นการลงทุนมากมหาศาล คุ้มค่า ไม่คุ้มค่า ไม่นานจะได้คำตอบ!!!