การหาหอยในพื้นที่ทางภาคใต้โดยเฉพาะ จ.สตูล มีวิธีการหาที่หลากหลาย รูปแบบ บ้างก็เดินหาริมชายหาด บ้างก็ต้องนั่งเรือออกไปใช้เครื่องมือในการคาดหอยขึ้นมา แต่วันนี้จะพาไปรู้จักกับวิธีการหา “หอยท้ายเภา” หรือ “หอยตะเภา” หอยที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นราชินีแห่งหอยในท้องทะเลอันดามัน ด้วยวิธีการดำน้ำลึกสุด 6 เมตร ใช้มือลงไปเก็บ มีอุปกรณ์น้อยชิ้นช่วยเท่านั้น หอยท้ายเภา หรือ หอยตะเภา จะอยู่ในทะเลลึกคราวใดที่น้ำลดบางครั้งสามารถเดินลงทะเลเก็บหอยได้ซึ่งไม่บ่อยครั้งนัก แต่ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านที่ทำเป็นอาชีพต้องอาศัยความชำนาญการต้องจัดหาอุปกรณ์ลงไปดำน้ำลึก 3-4 เมตรบ้าง และดำน้ำลึกสุด 6 เมตร เพื่อเก็บหอยใต้ท้องทะเลขึ้นมาได้ครั้งละ 1-2 ตัว บางครั้งก็ไม่ได้สักตัว ใช้เวลาในการดำน้ำลงไปแต่ละครั้งไม่นานกว่า 1 นาทีถึงจะโผล่ขึ้นเหนือน้ำมาหายใจครั้งหนึ่ง การดำน้ำหาหอยท้ายเภา ในแต่ละครั้ง นายพรานทะเลนักดำน้ำ จะใช้เวลาลอยตัวอยู่ในน้ำครั้งละ 3-4 ชั่วโมงในการดำน้ำลึกลงไปเก็บหอย โดยแต่ละครั้งใช้เวลาดำดิ่งลงไป 1 นาทีเพื่อขึ้นมาหายใจ และดำดิ่งลงไปใหม่ การล่าหอยท้ายเภาของนายพรานทะเล ใน 1 เดือนจะมีเพียง 15 วันเท่านั้น ในห้วงระหว่างเดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงของน้ำลง น้ำจะใสมองเห็นตัวหอยชัด และน้ำนิ่ง ทำให้ท้องทะเลอันดามัน ด้านหน้าบ้านแหลมสน หมู่ 6 ต.แหลมสน อ.ละงู กว่า 200 ไร่ในท้องทะเลแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยนายพรานทะเลออกมาล่าหอย เป็นวิถีของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ทุกคนก็พร้อมจะเคารพกฎกติกาของหมู่บ้าน ในการหาหอยไปพร้อมการอนุรักษ์ที่จะเก็บเฉพาะหอยขนาดใหญ่เท่านั้น นายฮาหรน แลต๋อง อายุ 31 ปี นายพรานนักล่าหอยท้ายเภา เล่าว่า 10 ปีกับการหาหอยท้ายเภาด้วยการดำน้ำมีเพียงอุปกรณ์ช่วยงัดแงะหอยขึ้นมาแล้วเก็บที่ละตัว 2 ตัวขึ้นมาเท่านั้น ออกมาหาครั้งหนึ่งใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงในการลอยตัว เก็บหอยได้ 2- 3 กิโลกรัมก็ขึ้นไป ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัวและได้อาหารในแต่ละวัน โดยหอยที่หามาได้ จะมีการนำไปส่งขายให้กับแพบังเส็น ด้านนายอับดุลรอหมาน อินหมัน อายุ 42 ปี นายพรานนักล่าหอยท้ายเภาอีกคน บอกว่า ตนมากับเพื่อน ๆ นำเรือออกมาลอยลำเพื่อเป็นที่พักก่อนลงไปดำน้ำเก็บหอย โดยจะมีตีนกบ หน้ากาก หินถ่วง เคยต้องดำเก็บหอยลึกสุด 6 เมตร เลือกที่จะทำเพราะเป็นอาชีพ และมีรายได้ดี ทำมา 12 ปีแล้ว โดยใน 1 ปีจะหาหอยได้เพียง 5-6 เดือนเท่านั้น เพราะน้ำทะเลจะขุ่น ราคา 25-30 ตัวต่อกิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 450 บาท ถึง 500 บาท ออกมาหาวันละ 2-3 กิโลกรัมก็สร้างครอบครัวได้แล้ว หมดฤดูหาหอยก็จะไปหาปลาทรายแทน หมุนเวียนอยู่แบบนี้ สำหรับวิถีประมงพื้นบ้าน นายอุเส็น สูนสละ อายุ 38 ปี บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 6 ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล เจ้าของแพบังเส็น ยอมรับว่า หอยท้ายเภา เป็นหอยที่มีความต้องการของตลาดมาก และมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศที่มียอดสั่งมาจำนวนมาก อย่างประเทศ ไต้หวัน จีน ฮ่องกง ทุกวันจะมีการส่งขึ้นเครื่องบินเพื่อให้ลูกค้า โดยหอยท้ายเภา เมื่อขึ้นภัตตาคารแล้วอยู่ที่กิโลกรัมละ 800 -1,200 บาท โดยทางแพบังเส็น จะรับซื้อหอยขนาดใหญ่ ขนาด 25-30 ตัวต่อกิโลกรัม ความต้องการของตลาดสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้าน หากภาครัฐมีการส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์หอยท้ายเภา เชื่อว่าจะสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับชาวประมงได้ไม่มากก็น้อย รสชาติหอยท้ายเภา เนื้อหวาน หนึบนุ่ม เพียงแค่ต้มกับน้ำคลุกคลิกไม่ต้องมีน้ำจิ้มก็อร่อยแล้ว หรือจะปรุงอบกับเครื่องสมุนไพร ทานกับน้ำจิ้มซีฟู๊ดก็อร่อยเด็ดเช่นกัน จันทนา กูรีกัน /สตูล