พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชื่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า คำพูดที่ชาญฉลาดเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.ของ “รองวิษณุ” จะเป็นการส่งเสริมให้คนบุกรุกป่าได้!! เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ เรื่องของ ที่ดินส.ป.ก. ว่า “ที่ดินส.ป.ก. นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพื้นที่นั้นเป็น ที่ดินส.ป.ก. หรือไม่ ซึ่งถ้าใช่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเหมือนสมัยก่อนที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีได้คืนไปแล้วก็จบ...” กรณีผู้ถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถือครองที่ไม่ประสงค์เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน หรือไม่อาจได้รับสิทธิ์จากการปฏิรูปที่ดินได้ จะต้องออกจากที่ดิน หากไม่ออกจากที่ดิน ตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแจ้ง ก็อาจต้องรับผิดทางอาญาฐานบุกรุกที่ดินรัฐ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น..." กรณีที่ 1 หากยินยอมส่งมอบที่ดินคืนให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กรณีนี้ ถ้าคืนที่ส.ป.ก. แล้วไม่ผิด(ฐานบุกรุกที่ดินรัฐ) ดังที่ รองวิษณุ สัมภาษณ์ กรณีที่ 2 ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ส.ป.ก. ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แต่ยังมิได้จัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาต พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินจึงยังมิได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม เช่น ตามปรากฏข่าว กรณี ที่ดินที่เป็น ฟาร์มไก่ ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ดินจำนวน 682 ไร่ ดังนั้น การอ้างว่าเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินก่อนได้รับการประกาศเป็นเขต สปก. ก็เท่ากับยอมรับว่าบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาตินั่นเอง คดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ประชาชนก็กล่าวโทษดำเนินคดีได้ ฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และน่าจะเป็นความผิดตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 มาตรา 97 ด้วย ในส่วนความผิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ,รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ และเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกรมป่าไม้ นั้น ตามมาตรา 53 รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” ทุกท่านเป็น “รัฐ” หากไม่ดำเนินคดีหรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดก็จะเข้าข่ายความผิดฐานช่วยเหลือผู้กระทำผิด กับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ถึงแม้ผู้ครอบครองที่ดินจะยอมคืนที่ดินก็มีความผิด แต่เข้าไปครอบครองที่ดินก่อนมีการปฏิรูปให้เป็นที่ ส.ป.ก. ก็เท่ากับเข้าไปบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นความผิดอาญาแล้ว ถ้าถือว่ากรณีคืนที่แล้วไม่มีความผิด ต่อไปทุกคนก็บุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือบุกรุกที่สาธารณะได้ พอมีเรื่องก็ขอคืนที่ดินนั้นเสีย ทั้งที่มีการกระทำผิดสำเร็จแล้ว เทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558 , 14487/2558 และ4825/2559 พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ