ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าได้แบ่งการพระราชพิธีออกเป็น 3 ช่วง คือ พิธีเบื้องต้น พิธีเบื้องกลาง และ พิธีเบื้องปลาย ซึ่งการพิธีเบื้องต้นและพิธีเบื้องกลางได้ดำเนินในการพระราชพิธีช่วงระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม ไปเรียบร้อยสง่างามและสมพระเกียรติ คงเหลือเพียงพิธีเบื้องปลายซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวิชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ของปวงชนชาวไทย โดยรัฐบาลได้มอบภารกิจให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ อาทิ กรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีเบื้องปลาย มีเรือพระราชพิธีรวมทั้งสิ้นจำนวน 52 ลำ โดยมีเรือที่สำคัญที่ถือว่าชั้นสูงสุด ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 พยุหยาตราคืออะไร พยุหยาตรา อ่านว่า พะ-ยุ-หะ-ยาด-ตฺรา ประกอบด้วยคำว่า พยุห (เป็นคำนาม แปลว่า กระบวน, หมู่, กองทัพ,) + ยาตรา (เป็นคำกริยา แปลว่า เดิน, เดินเป็นกระบวน) ดังนั้น พยุหยาตรา หากเป็นคำนามจะมีความหมายว่า กระบวนทัพ, การเดินทัพ, เช่น ยกพยุหยาตรา. หากเป็นคำกริยาจะแปลว่า ไปเป็นกระบวนทัพใหญ่ในประวัติศาสตร์การพระราชพิธีในบ้านเรา พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จ “พยุหยาตรา” 2 เส้นทาง คือ “พยุหยาตราชลมารค” แปลว่า “ไปเป็นกระบวนทัพทางน้ำ” ทางหนึ่ง และ “พยุหยาตราสถลมารค” แปลว่า “ไปเป็นกระบวนทัพทางบก” อีกทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันจะนิยมเรียกว่า “พยุหยาตราทางชลมารค” กับ “พยุหยาตราทางสถลมารค” ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่าการใช้คำซ้ำซ้อนอยู่ในที ซึ่งคำว่า “มารค” แปลว่า ทาง อยู่แล้ว หากจะใช้ ทาง กับ มารค ประกอบเป็นศัพท์เดียวกัน เช่น ทางชลมารค ซึ่งหากจะแปลก็คือ ทางทางน้ำ หรือทางสถลมารค ก็ต้องแปลว่า ทางทางบก ดังนั้นในบทความนี้ขออนุญาตใช้คำว่า “พยุหยาตราชลมารค” แทน “พยุหยาตราทางชลมารค”