ข่าวใหญ่ในช่วงนี้ น่าจะเป็นเรื่องการตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ตามที่มีการยัดไส้เข้ามาใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ ที่จะเข้าสภาฯพิจารณากันในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ทั้งๆ ที่การพิจารณาของ สนช. วาระแรก ไม่มี แต่มายัดเข้าพรวดเดียวในวาระ 2 และ 3...ปิดประตูตีแมว! คนที่ออกมาแฉก็คือ "ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล" อดีตรมว.คลัง หรือ "หม่อมอุ๋ย" ที่ระบุว่ามีทหารถึง 6 คน อยู่เบื้องหลังการผลักดันจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ คนที่ผลักดันเรื่องนี้ก็คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 21 คน เป็นทหารมากกว่าครึ่ง...มากกว่าที่ "หม่อมอุ๋ย" บอก ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่า การตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ขึ้นมา จะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ถ้าว่ากันตามเนื้อหาที่ยัดไส้ ก็จะกลายเป็นว่า "บรรษัท" จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในการให้ "สัมปทานปิโตรเลียม" แทน กระทรวงพลังงาน นัยยะสำคัญ อยู่ตรงนี้คือ ตามพ.ร.บ. จะให้ "กรมการพลังงานทหาร" เป็นผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไปก่อน...ก็ชัดเจนเลยว่า ถ้ามี บรรษัทฯ ขึ้นมาจริง ใครจะขออนุญาต สูบ ขุด เจาะ แหล่งน้ำมันต่างๆ ทั้ง บนบก และในทะเลไทย "ทหาร" จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ก็มีแหล่งน้ำมันใหญ่ของประเทศไทยหลายแห่ง ใกล้จะหมดอายุสัมปทาน และต้องต่อสัมปทานใหม่ หรือประมูลกันใหม่ การที่เอา "ทหาร" มาคุมธุรกิจน้ำมัน จะดีหรือไม่ดี ก็ต้องดูด้วยว่า ทหาร จะทันต่อสถานการณ์พลังงานโลกในปัจจุบันหรือไม่ เพราะในอดีต กรมการพลังงานทหาร ก็เคยดูแล "ปั๊มน้ำมัน 3 ทหาร" มาแล้ว และก็ต้องปิดตัวไป โดยการยุบรวมกิจการพลังงานของรัฐ 2 องค์กร คือ องค์การเชื้อเพลิง (ปั๊ม 3 ทหาร) และองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย เข้าด้วยกัน และแปลงร่างกลายมาเป็น "ปตท." ในทุกวันนี้ ถ้าใครเกิดทันยุค "ปั๊ม 3 ทหาร" ก็คงพอจะรู้ดีว่า องค์กรธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ที่ให้หน่วยงานรัฐบริหาร ส่วนใหญ่จะเจ๊ง! การดึง "ธุรกิจปิโตรเลียม" กลับเข้าไปอยู่ในการดูแลของ "ทหาร" ก็เลยทำให้คนรุ่นเก่าๆ รู้สึกหวาดวิตกว่า น่าจะเป็นผลเสีย มากกว่าผลดี เพราะ "ผลงานในอดีต" ไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่? อีกทั้งว่ากันตามตรง เรื่อง "พลังงาน" ก็ควรจะอยู่กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรงก็คือ "กระทรวงพลังงาน" อยู่ๆ จะเอาไปให้ "ทหาร" ดูแล แสดงว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ไม่มีฝีมือ! อีกประเด็นที่ควรต้องมอง และระมัดระวังอย่างยิ่งก็คือ "เวเนซุเอลา โมเดล" ข่าวใหญ่ตีพิมพ์ไปทั่วโลก ในปี 2550 คือ ข่าว รัฐบาลเวเนซุเอลา ภายใต้การบริหารของ "ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ" ได้ยึดคืนสัมปทานแหล่งน้ำมันในประเทศ จากบริษัทต่างชาติทั้งหมด! ในตอนนั้น "ฮูโก ชาเวซ" และประชาชนเวเนซุเอลา ต่างเป็นปลื้มกันว่า อนาคตของชาติมีความหวัง ประเทศและประชาชนจะร่ำรวยกินดีอยู่ดี จากการที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากมายมหาศาล มากที่สุดในโลก ถึงกับประกาศจะก้าวขึ้นเป็น ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกไปโน่น! เวลาผ่านไปเพียงแค่ 9 ปี นโยบายยึดบ่อน้ำมันเป็นของรัฐ ก็ได้ผล ในปี 2559 ที่ผ่านมา ฐานะของเวเนซุเอลา "ใกล้ล้มละลาย" ไปทุกขณะ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายหนี้ IMF โดย GDP ปี 2559 หดตัวลงไป 6% เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 720% "เงินโบลิวาร์" ไม่ต่างอะไรกับ "แบงก์กงเต็ก" ที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือ ประชากรของประเทศเวเนซุเอลา ยังต้องประสบกับปัญหาการว่างงาน และขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค จนกระทั่งต้องขอรับบริจาคจากชาติตะวันตก ภาพประชาชนอดอยากยากไร้ ไม่มีอาหารกิน บางกลุ่มก็ออกคุ้ยขยะหาอาหาร และไล่ปล้นไล่ขโมยอาหารขนมปัง ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก...เวเนซุเอลา วิกฤติ จนแทบจะหมดโอกาสเยียวยา ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรมากมายมหาศาล! ที่พูดนี่ไม่ได้ต่อต้านเรื่องการตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" แต่กลัวว่าการที่ สนช. จะเอาธุรกิจปิโตรเลียม กลับไปอยู่ในอุ้งมือทหารเหมือนในอดีต จะทำให้ "ภาพลักษณ์" ของประเทศชาติ ที่ออกไปสู่สายตาชาวโลก มองว่า...ไทย กำลังจะเดินตามรอย เวเนซุเอลา ที่ไม่มีใครกล้าค้าขาย หรือร่วมลงทุนด้วย เพราะไม่มั่นใจว่า เมื่อเข้ามาลงทุนแล้ว ประเทศไทย จะเดินหน้าต่อไปได้หรือเปล่า ทุกอย่างเป็นความเสี่ยง! อย่าลืมว่า พวกที่มาทำธุรกิจน้ำมันในไทย ยกเว้น ปตท.แล้ว แทบทั้งหมดจะเป็นบริษัทต่างชาติ ถ้าเขารู้สึกว่า ไทยกำลังจะยึดธุรกิจปิโตเลียมทั้งหมดกลับเป็นของรัฐ การประมูลการขออนุญาตสัมปทาน ต้องผ่านมือ "ทหาร" ซึ่งก็ดูขัดเขินกับ "กระแสโลก" ในยุคปัจจุบัน ข่าวแบบนี้เผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ประเทศไทย ก็เตรียมตัวไว้ได้เลย.... รั้งม้าริมหน้าผา ตอนนี้น่าจะยังทัน...ใครที่เป็นต้นคิดในเรื่องนี้ รับผิดชอบผลลัพธ์ในอนาคต ไหวมั๊ย!