เตือนผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด พบส่วนใหญ่วัย 5-14 ปี ที่เกิดเหตุมักเป็นบ่อขุด คลอง หนองน้ำ รวมทั้งในสวนน้ำ พร้อมปลุกชุมชนต้องช่วยกันดูแล นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอม เด็กจะอยู่บ้านและรวมกลุ่มกับเพื่อนๆไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ซึ่งการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด โดยในปี 59 เสียชีวิต 197 คน (ค่าเฉลี่ย 10 ปี : ปี 50-59 คือ 348 คน บางปีสูงเกือบ 450 คน) ข้อมูลการเฝ้าระวังจากสื่อของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เบื้องต้นพบว่าช่วงปิดเทอมปีนี้เพียง 28 วัน (1-28 มี.ค.60) พบมีเหตุการณ์เด็ก ตกน้ำ จมน้ำ 26 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 31 คน โดยเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปีมากที่สุด(27 คน) รองลงมาต่ำกว่า 5 ปี(4 คน) เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิง 2 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังพบว่ามากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 58) พบว่าขณะจมน้ำเด็กอยู่กับเพื่อนหรือพี่/น้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ (ร้อยละ 77.4) ส่วนแหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากสุด คือแหล่งน้ำเกษตร คลอง หนองน้ำ บ่อน้ำ/สระน้ำ (ร้อยละ 41.9) รองลงมาคือ คลองชลประทาน/อ่างเก็บน้ำ (ร้อยละ 32.3) และที่น่าสนใจคือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนน้ำที่เปิดให้บริการและมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งสถานที่ดังกล่าวไม่ควรมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต และไม่พบว่ามีการช่วยผิดวิธีโดยอุ้มพาดบ่า สำหรับคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.ชุมชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังและตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง 2.ชุมชนจัดให้มีป้ายเตือนและอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ 3.สอนเด็กให้รู้จักใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย 4.ผู้ปกครองอย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย 5.ไม่ยืนใกล้ขอบบ่อ อาจเกิดการลื่นไถลลงไปในน้ำ 6.ใช้เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกให้เด็กติดตัวไว้ ทั้งนี้ อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉินคือ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 ภาพ http://www.satuninfo.com/