สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นองค์กรคุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2562 รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุด ที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรว่ามีความทัดเทียมมาตรฐานโลก โดย ธอส. ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรก และเป็นสถาบันการเงินของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ได้รับรางวัล TQA และไม่มีหน่วยงานใดในประเทศได้รับรางวัลนี้มานานถึง 10 ปี นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นองค์กรคุณภาพที่ผ่านเกณฑ์ให้ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ประจำปี 2562 รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กรว่า มีความทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก โดย ธอส.ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรก และยังเป็นสถาบันการเงินของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ได้รับรางวัล TQA รวมทั้งยังไม่เคยมีหน่วยงานใดในประเทศไทยได้รับรางวัล TQA มาเป็นเวลานานถึง 10 ปี ซึ่ง ธอส.ได้เริ่มนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็น มาประยุกต์ใช้ในองค์กรตั้งแต่ปี 2559 ควบคู่ไปกับระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SEPA) และสมัครเข้ารับการตรวจประเมินตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเมื่อปี 2561เป็นปีแรก และได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class : TQC ประจำปี 2561 ได้ทันที และจากนั้นได้นำรายงานผลการตรวจประเมินในปี 2561 ซึ่งระบุจุดแข็งและจุดที่ควรปรับปรุง มาใช้ในการวางแผนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรให้สมบูรณ์มากขึ้น จนนำมาสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ประจำปี 2562 ทั้งนี้ถือเป็นรางวัลที่การันตีว่าการดำเนินงานทุกด้านของธนาคารมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้อย่างมีคุณภาพและเป็นระบบ หลังจากตลอด 66 ปี ที่ผ่านมา ธอส. มุ่งมั่นในการทำให้คนไทยมีบ้านตามพันธกิจของธนาคารมาแล้วกว่า 3.7 ล้านครอบครัว และยังคงมีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทุกด้าน ซึ่ง ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 215,301 ล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,209,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.37% จากสิ้นปี 2561 คิดเป็น 30% ของส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบสถาบันการเงิน และมีกำไรสุทธิจำนวน 13,352 ล้านบาท สำหรับสิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรมีผลลัพธ์ในการดำเนินงานเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดทุกตัวชี้วัดเกิดจากการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้ในกระบวนการทำงานครอบคลุมทั้ง 6 หมวดที่สำคัญในการจัดการและการดำเนินการขององค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยความเชื่อที่ว่า “ผลลัพธ์ที่ดี มาจากกระบวนงานที่ดี”(Good results come from Good processes) ทั้งในด้านการนำองค์กรของผู้นำระดับสูง การวางแผนกลยุทธ์ การดูแลกลุ่มลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขณะเดียวกันได้วิเคราะห์ติดตามประเมินผลและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีให้ทันต่อสถานการณ์ การจัดการความรู้ขององค์กร หรือ Knowledge Management รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งทุกหมวดได้ทำงานแบบบบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกันทุกระดับภายในองค์กร ตั้งแต่กลุ่มงาน สายงาน ฝ่าย/สำนัก/ภาค และสาขาหรือส่วนงานในสำนักงานใหญ่ ที่นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานประจำวันภายใต้บริบทของตัวเอง “ผลลัพธ์สำคัญที่ตามมาจากการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาปรับใช้คือจะนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการขยายระเวลาการให้ผ่อนชำระได้นานสูงสุดถึง 40 ปี การ Over Night Approve หรืออนุมัติสินเชื่อภายใน 1 วันหลังยื่นกู้ การนำระบบปฏิบัติงานหลักที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของธนาคารอย่าง GHB System ขึ้นใช้งานทดแทนระบบเดิมได้ตามกำหนด โดยให้บริการลูกค้าทั่วประเทศได้อย่างไร้ร้อยต่อ ซึ่งระบบดังกล่าวยังทำให้ธนาคารสามารถพัฒนาบริการใหม่ๆในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้น รวมถึง Mobile Application : GHB ALL ซึ่งมีบริการในสิ่งที่ลูกค้าของ ธอส.ต้องการอาทิ ตรวจสอบสถานะสินเชื่อ ชำระหนี้เงินกู้ โอนเงิน แจ้งเตือนชำระหนี้ และค้นหาทรัพย์ NPA เป็นต้นรวมถึงการนำ Digital Dashboard มาปรับใช้ในการกำกับและติดตามทุกขั้นตอนที่เกี่ยวกับการอำนวยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าตั้งแต่วันยื่นกู้ไปจนถึงทำนิติกรรมอีกด้วย” นอกจากนี้ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีความสุข พร้อมรับรู้หน้าที่ว่าคือการทำให้คนไทยมีบ้าน โดยใช้กลยุทธ์ 5 R คือ Recruit(การสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ),Retrain(การพัฒนาทักษะของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง), Reallocate (การจัดสรรบุคลากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง),Restructure (การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดความคล่องตัว) และ Re-Attitude (ปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อให้ตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล) พร้อมไปกับยกระดับการส่งเสริมพฤติกรรมของบุคลากรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อร่วมกันนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการเพิ่มเติมค่านิยมองค์กรจาก GIVE เป็น GIVE+4 ประกอบด้วย Good Governance หรือการทำงานอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาล,Innovative Thought มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่,Value Teamwork การทำงานเป็นทีม,Excellence Service การให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด,(En)Courage to Change กล้าเปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง, Achievement Oriented มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จให้ได้ตามเป้าหมาย,Professional มีความเป็นมืออาชีพ รู้จริงหรือเชี่ยวชาญในงาน ให้คำแนะนำแก่คนอื่นได้ และ Speed ทำงานให้เสร็จตามแผนหรือเร็วกว่าแผน สำหรับในปี 2563 บุคลากรทั้งกว่า 5,000 ชีวิตของ ธอส.ต้องมีความเข้าใจบริบทของธนาคาร นั่นคือ พันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมขององค์กรเป็นอย่างดี นำไปสู่การการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้าน Balance sheet ความมั่นคงทางการเงิน การมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรและการสร้างความผูกพัน เพื่อให้พนักงานทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท การคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อการเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืนและการปลูกฝังจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดจนการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ “Be Simple, Make it Simple” โดยการช่วยให้คนไทยมีบ้านด้วยวิธีการและขั้นตอนที่ง่าย ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และสามารถผ่อนชำระได้ตลอดจนถึงไถ่ถอนจำนอง และยังนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และคงความเป็นเลิศในระบบการบริหารจัดการองค์กร มุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้านตามวิสัยทัศน์ของธนาคาร และพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ เข้าศึกษาดูงานหรือเยี่ยมชมเพื่อเป็นแบบอย่างในการนำแนวทางการดำเนินงานของ ธอส.ไปปรับใช้ เพื่อร่วมส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นได้ต่อไป