เมื่อเวลา 15.00 น. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ภายหลังจากหารือกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1ถึงเรื่องการใส่คำถามพ่วงประกอบประชามติลงในร่างรัฐธรรมนูญนานกว่า 20 นาที โดยนายมีชัยกล่าวว่า ทาง กรธ.อยากให้ สนช.ซึ่งเป็นเจ้าของคำถามพ่วงฯส่งผู้แทนมาหารือถึงความหมายของคำถามพ่วงฯนั้นกว้างไกลแค่ไหน ซึ่งทางนายสุรชัยก็ได้รับปากว่าในอาทิตย์จะประชุมกันและจะคาดว่าจะได้ตัวผู้แทนของทางฝ่าย สนช. และส่งเข้าหารือกับ กรธ.ภายในวันศุกร์ที่ 19 ส.ค.เวลา 14.30 น.ส่วนจะมีผู้แทนกี่คนนั้นก็ขึ้นอยู่กับทาง สนช.จะตัดสินใจ นายมีชัยกล่าวต่อว่าระหว่างนี้ กรธ.ก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของ กรธ.ไปศึกษารายละเอียดเรื่องนี้และดำเนินการแก้ไขไปพลางๆก่อน พอได้รับคำชี้แจงจากทาง สนช. กรธ.คงจะไปแก้ไขอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้หลังกการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญควรจะเป็นไปตามคำถามพ่วง และควรจะเป็นไปตามที่ได้ชี้แจงกับประชาขนช่วงก่อนการลงประชามติ จะไปเพิ่มหรือตัดทอนไม่ได้ เมื่อถามต่อถึงหลักการ การแก้ไขมาตรา 272 ด้วยเรื่องข้อยกเว้นบัญชีนายกฯ ว่าจะให้ สว. เข้ามาร่วมลงมติด้วยแต่แรกหรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่าก็ต้องรอความเห็นจาก สนช. เช่นกันว่าคิดเรื่องนั้นอย่างไร ส่วนตัวแล้ว กรธ. ก็คาดว่าต้องทำกัน 2 ครั้ง คือให้ ส.ส.เขาตัดสินใจก่อนว่าจะขอยกเว้นหรือไม่ แล้วจึงให้ สว.มาร่วมตัดสินใจด้วยอีกที เมื่อถามต่อว่าตอนนี้มี กรธ. เสนอให้รวบขั้นตอน โดยให้ สว. เข้ามาร่วมกับ ส.ส.เพื่อยกเว้นบัญชีนายกรัฐมนตรีได้ตั้งแต่ครั้งแรกเลยหรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่าตอนนี้ยังไม่มี “ในความคิดของ กรธ. นั้นยังต้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้เสนอมาก่อนเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอทาง สนช. อธิบายว่าตอนที่เขาไปชี้แจงกับประชาชน เขาชี้แจงว่าอย่างไรบ้าง ถ้าหากเขาไปบอกประชาชนว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น อย่างไรก็ต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาก่อน ถ้าเป็นแบบนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือว่าเข้าใจตรงกันแล้ว” นายมีชัยกล่าว นายมีชัยกล่าวด้วยว่าถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดว่าระยะเวลา 5 ปี ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยตามคำถามพ่วง ก็หมายความว่าใน 5 ปีนี้มีการเปลี่ยนรัฐบาลกันกี่ครั้ง ส.ว. ก็ต้องร่วมกับ ส.ส. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ยอมรับว่า กรธ. ยังมีความสับสนเรื่องของคำว่า “วาระเริ่มแรกเมื่อมีการเลือก ส.ส.” ที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 272 โดย กรธ. เข้าใจว่าอาจจะหมายถึงว่าสามารถยกเว้นบัญชีนายกฯ ได้เพียงครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้นหรือไม่ เมื่อถามต่อความเห็นถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะสามารถตั้งพรรคการเมืองได้โดยง่ายตามเงื่อนไขของร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.หรือไม่ เพราะว่าอาจต้องเป็นพรรคใหญ่ มีจำนวนผู้สมัครส.ส. เพียงพอที่จะลงพื้นที่ทั้งประเทศ นายมีชัยกล่าวว่ายังไม่ทราบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองยังไม่ออก ยังไม่พูดถึงวิธีการตั้งพรรค ทั้งนี้มีข้อเสนอมาเยอะมากเรื่องพรรคการเมือง อาทิ ให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองเป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องฟังความเห้นจากทางนักการเมืองด้วย ส่วนเรื่องของนายไพบูลย์นั้น ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นพรรคเล็กเสมอไป อาจจะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็ได้ ถ้ามีคนร่วมใจกันทำ เมื่อถามความเห็นเรื่องการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปประกาศใช้ว่าว่ากรณีที่มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แล้วศาลส่งกลับมาให้ กรธ. แก้ไข อีก 15 วันถัดหลังจาก กรธ. แก้แล้วไม่ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกรอบแล้วใช่หรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่าที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเราหวังว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าถ้าต้องแก้ไขตรงไหน ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะแก้ไขให้มา และ กรธ.ก็ควรจะแก้ตามข้อเสนอของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรจะให้เขาไปวินิจฉัยอีกรอบ ทั้งนี้คาดว่าการแก้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นคงใช้เวลาไม่ถึง 30 วัน