คอลัมน์ บ้านเรา ส่ององค์กรอิสระ หลังใช้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจัดทัพใหญ่ –กสม.แพแตก          นับหนึ่งโรดแมปตามสภาพบังคับการบังคับทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญกันไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 6 เมษายน 2560 โดยเมื่อไปโฟกัส กันที่ทิศทาง ความเคลื่อนไหวของ “องค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญ” หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะกำลังมีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอย่างน้อย ก็ 3 องค์กร คือที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ-สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ-สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” ที่ไล่เรียงตามลำดับดังนี้ เริ่มจาก ศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระ ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา44 ออก คําสั่งหัวหน้าคสช.ที่23/2560เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ5 เม.ย.ที่ผ่านมา          คำสั่งดังกล่าว มีสาระสำคัญคือ การให้มีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรรมนูญ แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่ง ได้ตามคำสั่งนี้  ซึ่งที่ผ่านมาคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงก.ค.2559 “บิ๊กตู่” ใช้มาตรา44ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่40/2559 ที่ให้งดเว้นการสรรหาและการเลือกกรรมการองค์กรอิสระ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-กกต.-ป.ป.ช.และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังเกิดปัญหาเรื่องกระแสสังคมไม่ยอมรับกรณี กรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินลงมติเลือก นพ.เรวัต วิศรุตเวช ให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้งทั้งที่สนช.ลงมติไม่เลือกมาก่อนแล้ว  จึงทำให้พลเอกประยุทธ์ออกคำสั่งดังกล่าว โดยที่ยังไม่มีการยกเลิก แล้วพอดีว่า มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยตอนนี้ก็ต้องมีการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ           ก็พอดีว่า ในเดือนพ.ค.นี้ จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นวาระเพราะอยู่ในตำแหน่งมาครบ 9 ปี พร้อมกันทีเดียว5 คน  คือนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ –จรัญ ภักดีธนากุล –ชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ-อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และบุญส่ง กุลบุปผา แต่เมื่อคำสั่ง ที่ 40/2559 ไปล็อกไม่ให้เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน การร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องใช้เวลานาน หลายเดือน หากจะปล่อยให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ5คน อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่เข้ามาทั้งที่ต้องพ้นวาระไปแล้ว  ก็คงไม่เหมาะ           ทำให้ “บิ๊กตู่” ต้องออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่23/2560 ออกมาเพื่อให้มีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งดังกล่าวที่พบว่า มีการกำหนดคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงขั้นตอนการเลือก ตลอดจนที่กำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7ปี ก็ออกมาสอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ซึ่งในคำสั่งระบุว่า ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งก็จะนับหลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งในเดือนพ.ค.ปีนี้เป็นต้นไป แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ  ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้แล้ว มีการเขียนเพิ่มคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้สูงกว่าของปี  50  ทำให้ อาจส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ บางคน นอกเหนือจาก 5 คนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งข้างต้น ประกอบด้วย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ปัญญา อุดชาชน ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ วรวิทย์ กังศศิเทียม อาจมีปัญหาเรื่องขาดคุณสมบัติและอาจต้องพ้นจากตำแหน่ง หากสุดท้าย ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ... ที่มีผลบังคับใช้  ไม่มีการเขียนบทเฉพาะกาลเอาไว้เพื่อให้งดเว้นการใช้คุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญมีผลกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นแน่นอน โดยมีสูตรการวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า  ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แคนดิเดท อาจจะเป็นนายวรวิทย์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ยังไม่พ้นวาระ ไม่มีใครขาดคุณสมบัติ  แคนดิเดทอีกคนก็คือ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ที่ถือว่าอาวุโสสูงสุด กระนั้น เก้าอี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญก็อาจพลิกได้ เพราะหากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่เข้ามา 5 คน แท็กทีมกันเหนียวแน่น และมีคนที่มีบารมีสูงอยู่ในชุดนี้  การโหวตเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจไม่จำเป็นต้องยึดหลักใครมาอยู่ก่อนอยู่หลัง ก็เป็นไปได้ ถ้าหากออกมาแบบนี้ การชิงเก้าอี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็น”อำนาจที่ 4“ ก็คงเข้มข้นแน่นอน           ส่วนที่”สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”(กสม.)ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ก็ร้อนแรงไม่เบา หลังที่ผ่านมา มีข่าวกระเซ็นกระสายตลอดว่า กสม.ชุดปัจจุบัน งัดข้อ เกิดเกาเหลากันในกสม. มาตลอด การทำงานไม่เป็นเอกภาพ โดยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนเลือก นายวัส ติงสมิตร  เป็นประธานกสม. แล้ว ยิ่งเมื่อทำงานกันไปเรื่อยๆ ความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายเรื่องของกสม.ด้วยกัน ก็ยิ่งมีมากขึ้น เพียงแต่ว่างานของกสม.ไม่ถูกจับตามองมากเหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ เลยไม่ค่อยโดนเพ่งเล็งมาก           จนกระทั่ง รอยร้าวนี้มาปรากฏเมื่อ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กสม.ยื่นใบลาออก เมื่อ5เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้กสม.เหลือ  6คน จากที่เคยมีอยู่7 คน  และให้เหตุผลการลาออกว่า บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์ อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าตัวยอมรับว่า ที่ลาออก จำเป็นต้องฮาราคีรีตัวเอง เพื่อให้องค์กรรู้ตัวและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร           สอดรับกับการที่ นางอังคณา นีละไพจิตร กก. สิทธิฯ อีกคน ที่ออกมาตอกย้ำเรื่องข่าวความไม่เป็นเอกภาพของกสม.ว่า หลายคนมีความอดทน อดกลั้น พยายามที่จะทำงาน แต่ว่าความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร ความมีธรรมาภิบาล การยอมรับ มันก็สำคัญ มันไม่ใช่จะยึดเสียงข้างมากอย่างเดียว ต้องรับฟังเสียงข้างน้อย และกล่าวสำทับว่า ตนเองก็ยังไม่รู้ว่า จะอยู่อีกนานแค่ไหน แต่ช่วงที่ผ่านมา ต้องใช้ความอดทน หลายครั้งกดดัน โดยหากเมื่อใด หลักการทำงานต้องเสียไป ก็ต้องพิจารณาตัวเอง           รอยร้าวที่ปรากฏในกสม.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่หลักคือการตรวจสอบ และป้องกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงปัญหาอื่นๆที่อาจกระทบกับสิทธิมนุษยชนของประชาชน แต่มาวันนี้ ความแตกแยกที่ซ่อนอยู่ในกสม.มาปีกว่า ได้ปะทุออกมาให้สังคมรับรู้แล้ว หลังเก็บเงียบมานาน คงทำให้องคาพยพแห่งนี้ ถูกจับตามองและตั้งคำถามถึงการทำงานมากขึ้น แต่จะถึงขั้นต้องให้ “บิ๊กตู่” ใช้มาตรา 44 ยุบ กสม.ชุดปัจจุบัน แล้วให้ ไปเลือกกันใหม่ หลังร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิฯมีผลบังคับใช้ เพื่อเซ็ตซีโร่ อย่างที่มีบางฝ่ายสร้างกระแสหรือไม่ ดูแล้ว “บิ๊กตู่” อาจไม่อยากทำแบบนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีที่ปรึกษาใหญ่คสช.คนหนึ่งรู้จักมักคุ้นกับ คนในกสม.คนหนึ่งเป็นอย่างดี คงขวางเต็มที่ เว้นแต่ไปไม่ไหวจริงๆ รอยร้าวนี้บานปลาย การเซ็ตซีโร่กสม.ก็อาจเกิดขึ้นก็ได้ ! ปิดท้ายที่ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” (สตง.)ก็พบว่า มีคนในตึกสตง.ได้รับผลพวงไปเต็มๆ กับคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่23/2560เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพราะคำสั่งดังกล่าวที่ระบุว่า “ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 71/2557โดยให้งดเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติตามมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.บ.สตง.”ที่เป็นเรื่องให้ผู้ว่าฯสตง.ต้องอายุไม่เกิน 65 ปี มันก็คือคำสั่ง ปลดล็อกต่ออายุให้กับ “พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส”ได้เป็น ผู้ว่าฯสตง.ต่อไป แทนที่จะพ้นจากตำแหน่งเก็บของตั้งแต่เมื่อ  10 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเกิดครบรอบ 65ปี ของตัวเอง ตามกฎหมายตรวจเงินแผ่นดินที่มีผลบังคับใช้อยู่  แต่คำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าว ไปยกเว้นเรื่องต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65ปีไม่ให้มีผลบังคับใช้ จึงทำให้ “พิศิษฐ์-ผู้ว่าฯสตง.”ที่ล่าสุดสร้างผลงาน เป็นหัวหอกไล่เบี้ยเก็บภาษี ทักษิณ ชินวัตร 1.7หมื่นล้านบาท ก็ได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกอย่างน้อย 6เดือน คือไปพ้นจากตำแหน่งช่วงก.ย.ปีนี้ ที่จะครบกำหนด 3ปีตามกรอบเวลาที่พิศิษฐ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯสตง. พร้อมกับกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดปัจจุบัน แล้วจากนั้น พอถึงเดือนก.ย.  ในคำสั่งดังกล่าว ถึงจะให้มีการเลือกผู้ว่าฯสตง.คนใหม่ สำหรับ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะต้องมีการเลือกเข้ามาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าว เบื้องต้นพบว่าปัจจุบันมีคตง.ทำหน้าที่อยู่ 5 คน จากที่ต้องมี 7คน เพราะอดีต คตง.ที่เข้ามาพร้อมกันกับชุดปัจจุบันได้ลาออกไป คือ สุทธิพล ทวีชัยการ ได้ลาออกจากตำแหน่งไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  และวิทยา อาคมพิทักษ์ ที่ลาออกไปเป็นป.ป.ช. แรงกระเพื่อม-ความเคลื่อนไหวในองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระอย่าง กสม.-สตง.-คตง.ดังกล่าว จึงน่าจับตามองไม่น้อย และหลังจากนี้อาจมีมากขึ้น หากร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระอย่างป.ป.ช.-กกต. เขียนออกมาโดยมีผลทำให้คนในองค์กรเหล่านั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีบทเฉพาะกาลช่วยเซฟไว้ รับรองได้ว่า เสียงโวยวาย ตามมาแน่