หากมองย้อนกลับไป ประเทศไทยเคยมีการแก้ไขปัญหายาเสพติดและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยศาสตร์ของพระราชานั้นคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี 2512 พระองค์ท่านทรงแก้ไขปัญหาฝิ่นในภาคเหนือ โดยการสร้างอาชีพและให้โอกาสคนในสังคม เช่น การส่งเสริมอาชีพการทำนาขั้นบันได การปลูกพืชอื่นทดแทน การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ต้นน้ำลำธาร การให้โอกาสทางสังคม การบริการทางการแพทย์ ฯลฯ จนทำให้ฝิ่นหมดไป จึงเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในเรื่อง “ การสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพื่อเอาชนะยาเสพติด” ด้วยยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ปัจจุบันรัฐบาล โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดและการดำเนินงานในปัจจุบันนี้อยู่ในกรอบการปฏิรูปงาน (Road Map) ของ คสช.คือ การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาเจ้าหน้าที่รัฐ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และการสร้างสภาวะเกื้อกูลต่อการเป็นประชาธิปไตย หากนำยุทธศาสตร์พระราชทาน มารวมกับ Road Map (คสช.) จะเกิดบันได 7 ขั้นสู่การแก้ไขปัญหาแบบประชารัฐ เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง จากปัญหาดังกล่าว พล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 มอบหมายให้ พล.ต.สมชาติ แน่นอุดร ผบ.กกล.สุรศักดิ์มนตรีและผอ.รมน.ภาค 2 ส่วนแยก 1 ซึ่งมีความมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงได้มอบนโยบายให้หน่วยดำเนินการบูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.บึงกาฬ โดยการนำของ นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ โดยกกล.สุรศักดิ์มนตรีและกอ.รมน.ภาค 2 ส่วนแยก 1 ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี โดยมี พ.ต.ภานุวัฒน์ ไชยสุระ ผบ.ร้อยลาดตระเวนระยะไกล 3 เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ เข้าปฏิบัติในพื้นที่ ต.หนองเดิ่นอ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ตามแผนงานประชารัฐ ชุมชนเข้มแข็ง เอาชนะยาเสพติด 7 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นที่ 1 การเตรียมชุมชน เป็นการเตรียมการข้อมูลพื้นฐานของชุมชน โดยการเข้าไปสัมผัสชุมชนเพื่อสืบสภาพข้อมูลและค้นหาวิกฤตในชุมชน ด้วยการจัดเวทีชาวบ้านและเวทีประชาคม โดยมีผลลัพธ์ที่ต้องการคือ ได้รับทราบปัญหาและความต้องการของชุมชน ขั้นที่ 2 การพบปะชุมชน เป็นการพบปะชุมชน ส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำทางความคิด เพื่อสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติรวมถึงการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ ขั้นที่ 3 การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา เป็นการบังคับใช้กฎหมายให้ให้จริงจัง การทำงานเพื่อมวลชน การให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นที่พึ่งของชุมชน เพื่อให้ประชาชน เกิดความเชื่อมั่นศรัทธา มีความเชื่อมั่นต่อ จนท.รัฐ เป็นที่พึ่งของชุมชนได้ ขั้นที่ 4 การบูรณาการกับหน่วยงานราชการ เป็นการร่วมปฏิบัติกับส่วนราชการในทุกๆด้าน เช่น ด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนาเสริมสร้าง ด้านความปลอดภัย ด้านการศึกษา และด้านอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด นำไปสู่ความผาสุกของชุมชนและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับหน่วยงานราชการ ขั้นที่ 5 การสร้างชุมชน การจัดตั้งกำลังประชาชน การจัดตั้งแหล่งข่าว สร้างชุมชนให้มีความพัฒนาอย่างยั่งยืน การดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการปรับสภาพแวดล้อมของชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและเกิดการพัฒนาต่อไป ขั้นที่ 6 การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การจัดตั้งคณะทำงาน การประชุมแบบมีส่วนร่วม การประสานงานและการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมของอำเภอ เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืนและสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และสุดท้าย ขั้นที่ 7 การสร้างประชารัฐชุมชนเข้มแข็ง ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วน โดยอาศัยความต้องการของชุมชนเป็นหลัก เพื่อส่งมอบชุมชนให้กับส่วนราชการได้ดำเนินการต่อไป พ.ต.ภานุวัฒน์ ไชยสุระ ผบ.ร้อยลาดตระเวนระยะไกล 3 หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กล่าวว่า การเอาชนะยาเสพติดในระดับหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น จะต้องสลายโครงสร้างปัญหาด้วยการลดและขจัดอิทธิพลของกลุ่มการค้ายาเสพติด เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องมีผลประโยชน์ ให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจ ที่จะเข้ารวมการแก้ไขปัญหาเป็นลำดับแรก แล้วดำเนินมาตรการทุกด้าน ทั้งการป้องกัน การบำบัดรักษา การปราบปรามและการพัฒนา เพื่อลดเงื่อนไข อย่างสอดคล้องประสานกันด้วยกลไกและกระบวนการ “ประชารัฐ” โดยให้หน่วยงานภาครัฐ ที่ดูแลรับผิดชอบควบคู่กับกำลังภาคประชาชนที่จะรักษาพื้นที่ต่อเนื่องในระยะต่อไป ด้วยหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งผู้ผลิตยาเสพติดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง และเปลี่ยนทัศนคติ ปลูกจิตสำนึกการปฏิเสธและต่อต้าน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ณัฐพงษ์ ประชากูล /กาฬสินธุ์