ตรัง คุมเข้มไข่ในท้องตลาด ทั้งปริมาณและราคา เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการจำหน่ายไข่ไก่ในพื้นที่จังหวัดเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันไข่ ยังไม่ขาดตลาด วอนประชาชนไม่ต้องซื้อกักตุน นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ พาณิชย์จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ไข่ในจังหวัดตรังอย่างใกล้ชิด ทางจังหวัด ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการจำหน่ายไข่ไก่ในพื้นที่จังหวัดตรัง เข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง ทั้งนี้จากสถานการณ์ด้านการผลิตไข่ไก่ในจังหวัดตรัง มีปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดวันละประมาณ 360,000 – 400,000 ฟอง/วัน จำหน่ายภายในจังหวัดตรัง 2 แสนฟองและส่งขายในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 2 แสนฟอง และมีไข่ไก่จากเอกชนรายใหญ่เข้ามาจำหน่ายในจังหวัด อีกวันละ 1 แสนฟอง ซึ่งมีเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในจังหวัด นางรวีพรรณ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับราคาขายจำหน่ายไข่ไก่ที่หน้าฟาร์ม ราคาขายส่ง และราคาขายปลีก ฟาร์มต่างๆ ได้ดำเนินการตามราคากลางของกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของร้านค้าต่างๆ ที่มีการจำหน่ายเกินราคา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปอย่างเด็ดขาด โดยมีการนำเจ้าหน้าที่ลงตรวจทั้งหน้าฟาร์ม ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางจังหวัดตรัง ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการจำหน่ายไข่ไก่ ได้จัดทำป้ายข้อความ ไข่ไก่สดมีทุกวัน ไม่ขาดตลาด ให้ซื้อแต่พอดี เพื่อเป็นการย้ำเตือนผู้บริโภคไม่ให้มีการซื้อไข่ไก่ไปกักตุน เนื่องจากไข่ไก่จะมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ20 วัน หากนานกว่านั้นไข่ไก่จะคุณภาพไม่ดี “ทางกระทรวงพาณิชย์จะเพิ่มมาตรการเรื่องการแก้ไขปัญหาไข่ไก่โดยจะออกประกาศห้ามการส่งออกไข่ไก่ออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะมีการพิจารณาขยายเวลาเพิ่มเติม พร้อมทั้งประสานกระทรวงมหาดไทยสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการปราบปรามและจับกุมดำเนินคดีกับผู้ฉวยโอกาสขายเกินราคา สำหรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มราคา 2.80 บาท ราคาขายปลีกอยู่ที่ 3.30 - 3.50 บาท หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานค้ากำไรเกินควร โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้ผู้ประกอบการอย่างได้ฉวยโอกาสในช่วงที่ประชาชนกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อที่เราจะได้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นางรวีพรรณ กล่าว นางรวีพรรณ กล่าวต่อไปว่า ก็ได้คุยกันหลาย ๆ ภาคส่วนก่อนที่เราจะออกตรวจเข้มข้น เพราะไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุม การควบคุมถ้าขายเกินราคาหรือเกินราคาควบคุมถือว่ามีความผิด แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ขายไข่ในราคาแพงหรือขายไม่เป็นตามที่คณะกรรมการราคาแนะนำกำหนดมา ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ของจังหวัดตรังกว่า 10 ราย รายใหญ่ ๆ ได้มาคุยกันว่า ราคาต้นทุนของท่าน ราคาขายส่งหน้าฟาร์มของท่านอยู่ในราคาเท่าไหร่ แล้วท่านสามารถยอมรับในราคาที่ประกาศ ราคาที่แนะนำนี้ได้ไหม ทุกท่านได้ให้ข้อมูลและเหตุผล และยอมรับราคาที่แนะนำท่านยอมรับได้ เลยเอาเบอร์ 3 เป็นเกณฑ์ นางรวีพรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อแนะนำอย่างนี้ก็ให้ช่วยกันเผยแพร่และประกาศออกไปถึงทั้งผู้ขายปลีกให้ช่วยแนะนำบอกว่าถ้าขายเกินนี้ บวกลบเท่านี้ มันจะทำให้โดนจับนะ เพราะควบคุมแล้ว ขณะเดียวกันผู้ขายปลีกก็ต้องไปคุยด้วย และต้องรายงานสถานการณ์ไข่ไก่ทุกวันเพื่อให้เห็นว่าจังหวัดเรามีปริมาณขาดเหลือไหม ถ้าเขาบอกว่าไม่มีซื้อ เราก็ต้องไปดูว่าเขาผลิตไหม มีข้อจำกัดอะไรบ้าง จากการสอบถามทาง เบทาโกร เขาก็บอกว่าสินค้าไม่ขาด ไม่ต้องกักตุน จังหวัดตรังมีไข่มีเพียงพอแน่นอน ราคาในวันนี้ เบอร์ 3 ยังเป็น 3.40 ตามราคา เพราะจากการออกไปดูราคา “เราจะออกตรวจสถานการณ์ไข่ทุกวันโดยเฉพาะอำเภอเมือง กับอำเภอย่านตาขาว ออกสำรวจแบบหลาย ๆสินค้า มีหลายสินค้าที่ควบคุม ทั้งหน้ากากก็ต้องรายงานกับตรวจสอบอย่างเข้มข้น เป็นสินค้าควบคุมผู้ขายก็ต้องระวังในเรื่องราคา ถ้าเกินราคาควบคุมราคาแนะนำก็จะต้องกำกับและถ้ามีคนแจ้งมา 1569 ก็ต้องไปตรวจจับและดำเนินคดีอย่างเข้มงวด” นางรวีพรรณ กล่าว ด้าน นายสุทัศน์ เยี้ยนประยงค์ ผู้ประกอบการนิวสุทัศน์ฟาร์ม ประธานชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ตนเองคิดว่าไข่ไม่ได้ขาดตลาดเพราะการผลิตมันก็ยังผลิตอยู่เท่าเดิมซึ่งในช่วงที่ผ่านมายังคงล้นตลาดจึงต้องทำให้มีการส่งออกแต่ในวันนี้การผลิตอยู่ที่ประมาณ 40-41 ล้านฟองรวมทั้งประเทศแต่ปริมาณการใช้ของในประเทศประมาณ 38 ล้านฟองซึ่งจะมีส่วนเกินประมาณ 3-4 ล้านฟองต่อวันแต่ก็ยังมีไขที่สำรองไว้ใช้ในประเทศอีกประมาณ 1 ล้านฟองส่วนที่เหลือก็ต้องเก็บเข้าห้องเย็นเพราะว่านำไปส่งออกต่างประเทศที่เขามีสัญญากันไว้ แต่ในวันนี้คือไข่ที่ว่าขาดตลาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคอยู่ตามเมืองหลวงที่ว่าไม่มีสินค้าผลิตเขาต้องบริโภคอย่างเดียว “จากที่เมื่อก่อนเคยซื้อ 1 แผง แต่ตอนนี้กักตุนไว้ประมาณ 5 แผง10 แผงต่อ 1 ครัวเรือนจึงทำให้ส่วนมีปริมาณไข่ไก่ขาดไปจึงทำให้แต่ละภาคมีส่วนขาดหายไป จึงย้ำว่ามีไข่ไก่ออกมาทุกวันผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อไปกักตุนไว้เยอะซึ่งในส่วนนี้จะทำให้ไข่ไก่เสียหายด้วยเพราะเก็บไว้ได้ไม่กี่วันทำให้ไข่ไม่มีคุณภาพ ผมขอย้ำว่าไข่ยังมีพอกินอยู่ภายในประเทศ ในส่วนของราคาขายนั้นเราก็กำหนดตามประกาศของสมาคมภาคใต้เองจะยึดราคาจากภาคกลาง เราก็ยึดส่วนนั้นมาเป็นราคาของทางภาคใต้บวกอีก 20 สตางค์” นายสุทัศน์ กล่าว.