ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล เริ่มตั้งแต่ “การปฏิรูปประเทศ” ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2558 กลางปี และมาเริ่มจริงๆ จังๆ เอาช่วงกลางปี 2559 และได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.)” ที่มุ่งเน้น หนึ่ง การบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ สอง การปฏิรูปประเทศสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี สาม การสร้างความสามัคคีปรองดอง และสี่ ความมั่นคง ช่วงแรกนั้น สังคมค่อนข้างตื่นเต้นอย่างมากกับกรรมการที่มีการตั้งขึ้นมาจำนวนเกือบ 50-70 คน และต่อจากนั้นก็มีการตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาป.ย.ป.” อีกจำนวน “39 คน” ที่มีการเรียกขานว่า “39 อรหันต์” ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งจากภาครัฐ อดีคข้าราชการระดับสูง ผู้บริหารภาคเอกชน และนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ที่คอยนำเสนอความเห็นในที่ประชุม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและรองนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคอยฟังคำแนะนำ อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของแต่ละคณะนั้นจะมี “ทีมงาน” ที่คอยรายงานความคืบหน้าในการกำหนด “กรอบการปฏิรูป” แต่ละด้าน ซึ่งฟังดูแล้วรู้สึกว่า “มีกรอบ” และ “เดินมาไกล!” พอสมควรโดยคณะที่ปรึกษาค่อยๆ เสนอความเห็น แต่ประเด็นปัญหานั้นเยอะมาก หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า “กรอบ-ทิศทางเยอะมาก” ถ้าจะใช้เวลา 2-5 ปีนั้น ต้องยอมรับจะจบเสร็จหรือไม่นั่นคือคำถาม ที่มีปรัศนีย์ตัวเบ้อเร่อถามอยู่? จริงๆ แล้ว “การปฏิรูปประเทศ” นั้นมีหลากหลายรูปแบบที่มีการปฏิรูปบวกกับระยะเวลาที่ต่างกรรมต่างวาระกัน และที่สำคัญคือ “ปัจจัยความรู้ความเข้าใจ” ของคนในชาตินั้นๆ ว่า “มีอุดมการณ์-หลักการ” มากน้อยเพียงใด และ “มุ่งมั่นในความรักชาติ” หรือไม่ ท้ายสุดคือ “การยอมรับความจริงว่าชาติต้องปฏิรูป?” กรณีคำถามสุดท้ายนั้น น่าเชื่อว่า คนไทยยอมรับความจริงว่า “ชาติยังคงต้องการปฏิรูป” โดยเฉพาะก่อนการเลืกตั้ง ซึ่งแต่ละสำนักที่ทำการสำรวจประชามติผลปรากฏว่า “ประชาชนต่างเห็นว่าสมควรปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ทั้งนี้ “โร๊ดแม๊ป” ที่กำหนดการเลือกตั้งกำลังเดินหน้าต่อไปจน “รัฐธรรมนูญฉบับ 2560-ฉบับที่20”เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่างและนำเสนอ “กฎหมายลูก” สู่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” ที่น่าจะเสร็จอีกประมาณ 10 เดือน จำนวน 10 ฉบับ แต่ “การปฏิรูปที่สำคัญอย่างมาก” ที่ยังมีอีกหลากหลายมิติ ที่มิใช่เพียงแค่รัฐธรรมนูญ แต่คือ “การศึกษา” ที่คนไทยยังคง “อ่อนแอ” จน “ง่อยเปลี้ย!” ในการศึกษาที่บางคนอายุราวๆ 20 กว่าๆ ยังไม่รู้จักเลยว่า “พระที่นั่งอนันตสมาคมคืออะไร?” และ “รัฐสภาคืออะไร?” และถามต่อว่า “คนไทยสนใจประวัติศาสตร์ไทยหรือไม่?” ก็ต้องตอบเช่นเดียวกันว่า ตามข้อสมมุติฐาน “ไม่น่าจะเกินร้อยละ 50” ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย ถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของไทย” “ปัญหาการศึกษา” ของไทยเรานั้น มิได้เพิ่งจะเกิด แต่เกิดมายาวนานมากแล้ว จนก่อให้ “สังคมอ่อนแอ” จนกระทั่ง “ไร้การศึกษา” จนคนไทยบางคนคิดคล้าย “สัตว์เดรัจฉาน” ต้องขอโทษท่านผู้อ่านด้วยที่กล่าวอย่างหยาบคายเช่นนั้น ส่อนัยยะว่า “สังคมต่ำ-สังคมเสื่อมโทรม” อาทิ พ่อข่มขื่นลูกอายุน้อยๆ หรือกลุ่มวัยรุ่นข่มขืนเด็กอายุ 11-14 ปี เป็นต้น ถามว่า “ทำไมสังคมไทยถึงทรามเช่นนี้” แสดงว่า “คนไทยนั้นวัฒนธรรมต่ำมาก (LOW CULTURE)” มิได้ “มีวัฒนธรรมสูง (HIGH CULTURE)” แต่อย่างใด? อยากยกตัวอย่าง “ประเทศนอร์เวย์” ที่หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคฟื้นฟูประเทศหลังปี 1945 ประเทศได้เริ่มบูรณะตัวเองใหม่อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ตื่นตัวมาก ทั้งการผลิตและการส่งออกอยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น กองเรือพาณิชย์เองก็ถูกบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง หลายคนสามารถหางานทำได้ และแม้ว่าค่าแรงจะไม่สูงมากนัก แต่ปัญหาความยากจนก็ลดลงไปได้บ้าง คนส่วนใหญ่มีมุมมองที่ดีและหลายคนคาดหวังที่จะมี “ส่วนร่วม” ในการบูรณะประเทศนอร์เวย์ขึ้นอีกครั้ง “ความเท่าเทียมกัน-คุณค่าที่เท่ากัน” กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ เศรษฐกิจของนอร์เวย์ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะยังคงต้องแบ่งสรรสินค้าใช้อยู่จนช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 ระหว่างช่วงทศวรรษหลังสงคราม มีการปฏิรูปมากมายเกิดขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคน ชั่วโมงการทำงานถูกกำหนดให้สั้นลง และวันหยุดยาวนานขึ้น ในปี 1967 ได้มีการประกาศใช้กฎหมาย “หลักประกันแห่งชาติ” กฎหมายนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจให้กับประชากรทุกคน รวมทั้งคนชราและคนป่วย การเมืองการปกครอง นอร์เวย์มีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบอบรัฐสภา ประมุขแห่งรัฐของนอร์เวย์คือพระมหากษัตริย์ โดยพระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 บทบาทของกษัตริย์ในปัจจุบัน จำกัดอยู่เพียงด้านพิธีการและสัญลักษณ์เท่านั้น ประมุขของรัฐคือ “พระมหากษัตริย์” นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล พระมหากษัตริย์แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตำแหน่งประมุขของรัฐสืบทอดโดยการสืบสันตติวงศ์ ตามด้วยการเลือกตั้งรัฐสภา โดยทั่วไปผู้นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากหรือผู้นำคณะรัฐบาลผสมจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจ นอร์เวย์เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติทางพื้นดิน ป่าไม้ และทะเลอย่างมาก โดยมีอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมการประมง อุตสาหกรรมผลิตภัณท์ป่าไม้ อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ อุตสาหกรรมแร่ธาตุ จำพวกอะลูมิเนียม สังกะสี ตะกั่ว และทองแดง และอุตสาหกรรมการต่อเรือ และอุปกรณ์ด้านการเดินเรือทะเล นอกจากนี้ นอร์เวย์ยังมีอุตสาหกรรมการเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางตอนใต้ของทะเลเหนือ รัฐบาลนอร์เวย์จึงพยายามที่จะดำเนินนโยบายที่จะให้หลักประกันต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต. นอร์เวย์เป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งมีนโยบายที่เน้นการนำรายได้ของรัฐมาสนับสนุนภาคบริการเพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมแก่ประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ การบริการรักษาพยาบาล การศึกษา การจัดระบบบำเหน็จบำนาญ และการดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น ลักษณะสำคัญของสังคมนอร์เวย์อีกประการหนึ่ง คือ “การเน้นความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศ” ซึ่งทำให้สตรีชาวนอร์เวย์ได้รับสิทธิในการทำงานและสิทธิทางด้านสังคมอื่นๆ เช่นเดียวกับบุรุษ…เรายังมีสวีเดนและเดนมาร์คนำเสนอต่อไป!