“...วินัย พอเพียง จิตอาสา...” พระราชดำรัสพระราชทานเป็นฐานแห่งคนดี(1) ...คุณธรรมข้อหนึ่ง...ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ... การให้..การให้นี้... ไม่ว่าจะให้สิ่งใดแก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตามเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่งเพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคลและให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม... พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ จากพระราชดำรัส “เรื่องการให้” กล่าวได้ว่าเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรทหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 พระราชทานให้ชาวอาชีวะเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยเทคนิคเล็กๆขออัญเชิญมาประทับไว้ในหัวใจแห่งสำนึกที่จะเป็นเครื่องมือเป็นแสงแห่งประทีปนำทางชีวิตที่อัญเชิญมาข้างต้นนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในวิทยาลัยเทคนิคเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี คณะผู้บริหารรวมถึงครูอาจารย์ ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแนวทางการดำเนินชีวิต จึงน้อมนำมาเป็นหลักในการปลูกฝังทรัพยากรบุคคลในวิทยาลัยที่รวมใจกันทุกคนโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็น ผู้บริหาร เป็นครู เป็นนักเรียน เป็นเจ้าหน้าที่เป็นภารโรง มาระดมคบคิด ร่วมสร้างกระบวนการ ที่จะปลูกฝังคุณธรรมข้อนี้ให้เกิดกับทุกคนในวิทยาลัย เพราะทุกคนต่างมีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชการที่ ๙ เป็นรากฐานของหัวใจอยู่แล้วต่างรู้ซึ้งดีว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ตั้งพระราชปณิธานที่จะทรงเห็นคนไทยทุกคนเป็นคนดีมีคุณธรรม มีความเก่งความชำนาญในการประกอบอาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร อดทน ไม่โลภ รู้จักให้แบ่งปันมีความกตัญญู มีความรักความเมตตากรุณาต่อกัน พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมมนตรี มาสู่วิทยาลัยเทคนิคโพธารามเพื่อเป็นกองทุนการศึกษาพัฒนาเยาวชนเป็นคนดีของสังคม เมืองโพธารามเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ไม่ใหญ่โตนัก แต่ชื่อเสียงเรียงนามเห็นจะเป็นที่รู้จักกันของพี่น้องไทยมาแต่อดีต เกิดคำขวัญอย่างเช่น “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย”หรือแม้แต่วลีว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง” แล้วที่ขึ้นชื่อไปจนถึงนานาชาติก็เห็นจะเป็นตลาดน้ำกระมัง ชื่อทางร้ายก็ไม่เบาสำหรับเมืองโพธาราม ราชบุรีว่าไปแล้วไม่ไกลนักจากเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร พื้นที่พรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนม่า จึงเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์เส้นทางหนึ่งของการรบทัพจับศึกษาสมัยโบราณมีผลพวงโยงไยสัมพันธ์ไปมาหาสู่จนปัจจุบันผูกพันเป็นภาระที่ต้องพึ่งพิงดูแล เฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา เมืองราชบุรีและอำเภอต่างๆแม้ไม่ไกลปืนเที่ยงนักแต่ความเจริญในหลายด้านก็ไม่ได้เข้าไปหล่อหลอมพัฒนาทั้งด้านวัตถุและจิตใจ จนผู้คนที่กล่าวได้ว่าอพยพโยกย้ายมาจากหลายวัฒนธรรมประเพณีมาเป็นคนเมืองราชบุรีไม่น้อยทีเดียวยังด้อยโอกาสการปลูกฝังหล่อหลอมความดีงามเพื่อเป็นกำลังพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครอบครัวและบ้านเมือง ปัญหาอาจมาจากหลายปัจจัย ผู้คนต่างเผ่าพันธุ์นั่นก็หนึ่ง พื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์แห้งแล้งนั่นก็หนึ่ง นำไปสู่การไม่พัฒนาทั้งวัตถุและจิตใจ ทางหนึ่งที่จะขยับขยายพัฒนาได้คือส่งเสริมการศึกษา เพื่อนำพาเยาวชนประชาชนไปสู่การพัฒนาความรู้สติปัญญาที่จะเป็นเครื่องมือนำพาพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโพธารามนายชูศักดิ์ นายะสุนทรกุลในนามของวิทยาลัยให้ข้อมูลที่องคมนตรีน้อมนำพระราชหฤทัยห่วงใยอันเกิดจากพระเมตตายิ่งใหญ่แก่เยาวชนและประชาชนคนไทยว่า เพื่อให้โอกาสในการมีความรู้ทางหนังสือ อบรมบ่มนิสัยความดีงามให้เฟื่องฟูในจิตใจ ฝึกฝนด้านการมีทักษะฝีมือเพื่อใช้สร้างอาชีพ สร้างความชำนาญความรู้กับเด็กนักเรียนที่อยู่ห่างไกล ตามแนวตะเข็บชายแดนของประเทศไทย ในจังหวัดราชบุรี ที่ส่วนใหญ่มีสัญชาติกระเหรี่ยง มีวิถีชีวิต มีความเชื่อตามแบบชนเผ่า ซึ่งถ้าไม่หลอมความดีงามควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาชีพแล้ว อนาคตก็จะเป็นภาระต่อสังคมได้ให้ในเข้ามาเรียนสายวิชาชีพตามความสนใจของแต่ละคน และเข้ามาอยู่ในหอพักในวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์การเรียน ผู้อำนวยการบอกอีกว่าได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้มีอุปการะคุณผ่านทางคุณหญิงรัชนีวรรณ วัฒนชัย ในเรื่องค่าอาหารของใช้ที่จำเป็นระหว่างเรียนตลอดจน สิ่งของที่จำเป็นในหอพัก ในรูปแบบของ “โครงการกองทุนการศึกษา”เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ทางคณะผู้บริหาร ครูอาจารย์ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องรวมพลังสนองพระมหากรุณาธิคุณพร้อมใจกันขัดเกลาปลูกฝังการดำรงชีวิตนักเรียนนักศึกษาด้วยหลักความดีงามตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เป็นคนดีมีคุณธรรม ตามพระราชประสงค์ที่ว่า “ให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” โดยไม่รบกวนงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ “เพื่อเป็นการสนองต่อพระบรมราโชวาท ลงสู่การปฏิบัติชาววิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จึงนำกระบวนการโรงเรียนคุณธรรมเข้ามาสู่วิทยาลัย และสร้างอัตลักษณ์ คุณธรรม “วินัย พอเพียง จิตอาสา”เพื่อให้ทุกคนในวิทยาลัยได้ปฏิบัติตาม ซึ่งแต่ละข้อ ล้วนมาจากพระราชดำรัสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมอบให้คนไทยทั้งสิ้น เช่น “ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของแต่ละคน คือข้อ วินัย” “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือข้อ พอเพียง” และ “คุณธรรมเรื่องการให้ คือข้อ จิตอาสา” คณะผู้บริหารบอกตรงกันว่ากระบวนการคุณธรรมที่ทุกคนในวิทยาลัยได้ปฏิบัติได้ยึดตามแนวพระบรมราโชวาท ในการดำเนินโครงการกองทุนการศึกษา ปี ๒๕๕๕ คือ “ให้ครูทำเป็นตัวอย่าง ให้นักเรียนเป็นคนดี ให้นักเรียนรักครู ครูรักนักเรียน” “ จึงเป็นที่มาของ กลยุทธ์ ทิ่มหู ทิ่มตา ทิ่มใจ”(อ่านต่อ) รายงาน/ สุทธิรักษ์ ขวัญสด วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม