ศบค. แถลงไทยติดเชื้อเพิ่ม 28 ราย เสียชีวิต 2 ราย ชี้เป็นข่าวดีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ พร้อมนำข้อมูลผู้เสียชีวิต วิเคราะห์หาแนวทางป้องกันและรักษา เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า รายงานสถานการณ์ของประเทศไทยวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขณะนี้ 2,579 ราย ใน 68 จังหวัด ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมยอดเสียชีวิตสะสม 40 ราย หายป่วยกลับบ้านได้เพิ่มอีก 70 ราย รวมยอดหายป่วยสะสม 1,288 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ 2 ราย โดยรายแรก เป็นชายไทยวัย 56 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ โดยเริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.เข้ารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการวันที่ 14 มี.ค.ด้วยอาการไข้ 38 องศาฯ ไอ หอบเหนื่อย แพทย์ระบุว่าสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่จึงส่งตรวจไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ เอ และ บี รวมทั้งโควิด-19 ผลตรวจไข้หวัดเป็นลบ แต่ยืนยันเป็นโควิด-19 จากนั้นในวันที่ 23 มี.ค.อาการเหนื่อยหอบมากขึ้นจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตลงในวันที่ 12 เม.ย. รายที่ 2 เป็นชายไทยวัย 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ด้วยอาการไข้สูง 39.4 องศาฯ ไอ มีน้ำมูก เหนื่อย ถ่ายเหลว เข้ารักษาอาการที่ รพ.ในกทม.และแพทย์รักษาแล้วให้กลับบ้าน จากนั้นวันที่ 5 เม.ย.อาการไม่ดีขึ้นจึงเข้า รพ.แห่งเดิม วินิจฉัยพบปอดติดเชื้อจึงส่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาวันที่ 9 เม.ย.อาการแย่ลง หอบเหนื่อยมากขึ้น และออกซิเจนในเลือดต่ำ จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 11 เม.ย.ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สัมผัสกับผู้ป่วยเดิม 18 ราย กลุ่มที่ 2 คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย สถานที่ชุมชน 1 ราย อาชีพเสี่ยงทำงานสถานที่แออัด 2 ราย บุคลากรสาธารณสุข 3 ราย และกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantines (สตูล 2 ยะลา 1 จากอินโดนีเซีย) 3 ราย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ ไม่อยากให้เพิ่มไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของผู้เสียชีวิต ถึงอาการป่วยต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ เพื่อนำไปวิเคราะห์หาแนวทาง และมาตรการในการรักษาและป้องกันต่อไป นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ทางกรมควบคุมโรคได้ออกแบบทดลองการตรวจเชื้อแบบสแกนพื้นที่จ.ภูเก็ต เช่น รพ.ป่าตอง จำนวนการตรวจ 1,712 คน พบเชื้อ 19 คน ใช้งบ 1.1% รพ.สต.เชิงทะเล ตรวจ 103 คน พบเชื้อ 5 คน ใช้งบ 4.85% เป็นต้น จะเห็นว่าการตรวจแบบเฉพาะเจาะจงจะคุ้มค่ามากกว่า ส่วนการคัดกรองในวงกว้างเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ “คำถามที่ว่าประเทศไทยตรวจน้อย เลยพบเชื้อน้อยนั้น ขอชี้แจงว่ากรณีของภูเก็ตบอกได้เลยว่า เราตรวจกลุ่มเสี่ยงจะประหยัดและคุ้มค่าในการตรวจ ประเทศเราไม่ได้ร่ำรวยมีเงินมีทอง เทคโนโลยีสมัยใหม่แต่ก็มีค่าใช้จ่ายหลายพันบาท” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว