เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com หลายปีก่อน คงจำกันได้ว่า การแก้ปัญหาหนูระบาด ทำลายข้าวชาวนา ทางราชการใช้วิธีประกาศซื้อหนูจากชาวบ้าน หางละเท่าไรจำไม่ได้ แต่ได้ผล เพราะหนูหมดไปจากนา หลายปีก่อน รัฐบาลอยากให้คนหันมาใช้น้ำมันไรสารตะกั่ว ก็ทำให้ราคาน้ำมันไร้สารตะกั่วถูกกว่าน้ำมันเบนซินธรรมดาอื่นๆ จนคนหันมาใช้น้ำมันไร้สารกันในที่สุด มีคนเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาผักตบชวาที่เต็มแม่น้ำลำคลองหลายล้านตันด้วยวีธีการคล้ายกัน คือซื้อผักตบชวาจากชาวบ้าน เพราะที่มอบหมายให้หน่วยงานราชการต่างๆ ไปกำจัดผักตบชวาปรากฎว่าไม่สำเร็จและได้ผลน้อย เห็นแต่จะจัดสรรงบประมาณมากขึ้นๆ แต่คงไล่ตามผักตบไม่ทัน ตัวเลขผักตบจริงๆ เหลืออยู่เท่าไรไม่แน่ใจ สมมุติว่าซื้อจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ใครนำผักตบมาขายให้หลวง 1 ตันก็จะได้เงิน 500 บาท ก็น่าจะมีคนสนใจหารายได้พิเศษ อาจจะใช้งบประมาณมากกว่าที่ให้หน่วยงานราชการวันนี้ แต่แม้แต่ “แจกฟรี” ให้คนจนยังทำได้ นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งเพื่อช่วยคนจน การสร้างแรงจูงใจด้วยการตอบแทนก็เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการบ้านเมือง รัฐทำมาหลายครั้งเรียกว่ามาตรการ “ราคา-ภาษี” ในหลายเรื่อง บางเรื่องก็ดูดี บางเรื่องก็ดูประหลาดและขัดใจผู้คนทั่วไปไม่น้อย อย่างการสร้างแรงจูงใจให้ตำรวจทำงานโดยแบ่งค่าปรับให้ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของตำรวจอยู่แล้ว มีคนประชดว่า ถ้างั้นก็ต้องมาตรฐานเดียวกับอาชีพอื่นๆ อีกหลายอาชีพ ทีเรื่องผักตบชวากลับไม่พิจารณา หรือเรื่องการแก้ปัญหาจราจรในกรณีทางด่วนที่ไม่ค่อยด่วนเพราะการบริหารจัดการที่ไม่ดีพอ อยากให้คนใช้ easy pass มากๆ ก็ไม่สร้างจูงใจ มีแต่แรงต่อต้าน เพราะต้องจ่ายค่าประกันบัตร และยุ่งยากในการเติมเงิน เพิ่งมาปรับปรุงแก้ไขไม่นานมานี้เอง หลายคนเสนอว่า ถ้าหากให้จ่าย easy pass ถูกกว่าจ่ายเงินสด คนก็จะหันมาใช้ easy pass เหมือนที่หันไปใช้นำมันไร้สารตะกั่ว และจะทำให้จราจารลดติดขัดที่ด่านได้มาก เพราะมีแต่เสียกับเสีย เสียเวลา เสียน้ำมัน ปีหนึ่งคงเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาทเพราะการต่อแถวจ่ายเงินสด บางช่วงบางเวลาติดหลายกิโล นอกนั้น ด้านเทคโนโลยีของ easy pass เองก็ล้าหลังมาก และติดขัดบ่อยจนหลายคนเลิกใช้ เพราะบางครั้งเสียเวลานานกว่าการใช้เงินสดเพราะรถข้างหน้าผ่านไม่ได้ ที่อิตาลีตั้งแต่ปี 2552 ที่ไปมา รถผ่านทางด่วนแบบ “easy pass” ทุกช่องโดยไม่มีคนนั่งเก็บเงินและไม่มีไม้กั้นสักช่อง รถวิ่งผ่านในความเร็วปกติ รถทุกคันมีเซนเซอร์ติดที่รถ เมื่อผ่านด่านก็จะถูกตัดบัญชีธนาคารไปโดยอัตโนมัติ คันไหนไม่มีเซนเซอร์หรือไม่มีเงินในบัญชีก็จะถูกปรับ เขาสร้างระบบไว้อย่างดี และไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ แต่ประเทศไทยไม่ซื้อมาใช้เท่านั้นเอง ปัญหาประเทศชาติหลายอย่างใหญ่เกินกว่าที่รัฐบาลจะทำเองได้ ใช้เงินและอำนาจไม่อาจแก้ได้ทุกอย่าง ดูอย่างเรื่องโรคเอดส์ที่ระบาดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากไม่กี่กรณีกลายเป็นแสนเป็นล้านในเวลาไม่กี่ปี สุดที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไทยจะแก้ไขได้ สุดท้ายก็บอกว่า “ให้ชุมชนมีส่วนร่วม” ก่อนนั้น ในโรงพยาลบาล เวลาหมอพยาบาลไปตรวจคนไข้ก็จะให้ญาติพี่น้องออกจากห้อง พอเอดส์ระบาดหนัก หมอพยาบาลกลับบอกให้พ่อแม่ญาติพี่น้องอยู่เวลาที่หมอมาเยี่ยม เพื่อหมอจะได้แนะนำว่า เวลานำคนไข้กลับไปบ้านจะดูแลอย่างไร อยากให้เอากลับไปเร็วๆ เรื่องการจัดการคูคลองหนองน้ำ มีหลายหมู่บ้าน หลายอบต. เทศบาลที่มีวีธีการจัดการโดยไม่ใช้งบประมาณเลย อย่างที่อัมพวา บางคนทีและอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม ชาวบ้านที่ตำบลคลองเขิน ท่าคา ยายแพง บางคนที บางสะแก และอื่นๆ ต่างก็ “ลงแขกลงคลอง” กันเดือนละครั้ง เวียนไปตามหมู่ต่างๆ เพื่อช่วยกันทำความสะอาด ไม่มีผักตบ ไม่มีจอกแหนและวัชพืชกั้นทางน้ำ ลองคิดดูว่า ถ้าชาวบ้านไม่ทำ อบต. เทศบาลต้องตั้งงบประมาณเท่าไร และแน่ใจได้อย่างไรว่า จะทำความสะอาดดูคลองเหล่านั้นได้ดีเท่ากับคนในชุมชนที่มาด้วยจิตอาสา เอาข้าวปลาอาหารมารับประทานด้วยกัน ช่วยกันทำงานอย่างมีความสุข ไม่ทราบว่า เป็นเพราะคิดไม่ออก หรือเป็นเพราะไปขัดผลประโยชน์ของใครหรือไม่ก็ไม่ทราบ หลายอย่างก็น่าจะแก้ปัญหาและนำไปสู่การพัฒนายังยืนได้ อย่างการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ที่โลกกำลังต้องการ ถ้าจะเร่งให้ “อินทรีย์เต็มแผ่นดิน” จริงๆ ก็ไม่น่าจะอืดอาดมาจนถึงวันนี้ยังเรื่องพลังงานหมุนเวียน ที่มุ่งแต่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยไม่ทุ่มเทส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่โลกกำลังพัฒนากันอย่างรวดเร็ว ปัญหาไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน แต่การเปลี่ยนวิธีคิดจากการรวมศูนย์มาเป็นการกระจาย “อำนาจ” กระจายวิธีการในการจัดการไฟฟ้าและทรัพยากรทั้งหมดต่างหาก นายกรัฐมนตรีไปเซ็นปฏิญญา SDG ที่ยูเอ็นมาปีก่อน ในนั้นบอกว่าให้พัฒนาแบบ bottom up หรือจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่ top down ครับ