รมว.พม.เป็นประธานพิธีลงเสาเอกสร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรกในภูมิภาค รองรับคนไร้บ้านได้ไม่ต่ำกว่า 50 คน ตั้งเป้าเพื่อให้คนไร้บ้าน ไร้ที่พักพิงใช้เป็นสถานที่ตั้งหลักชีวิต และรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน มีแปลงเกษตร ร้านค้า ร้านกาแฟ สร้างอาชีพ สร้างอนาคตใหม่ ไม่ต้องร่อนเร่อีกต่อไป คาดแล้วเสร็จต้นปีหน้า ตามที่รัฐบาลมีโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาประชาชนที่มีความเดือดร้อนและต้องการที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งในเมืองและชนบทกว่า 1 ล้านครัวเรือน รวมทั้งผู้เดือดร้อนที่เป็นกลุ่มคนไร้บ้านนั้น วันนี้ ( 1 มิถุนายน) เวลา 08.30 น.พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานในพิธียกเสาเอกก่อสร้าง "ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน จังหวัดเชียงใหม่" ณ บริเวณที่ตั้งโครงการ ถนนสุริยวงศ์ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ให้การต้อนรับ มีผู้เข้าร่วมงาน จากสมาคมคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวมทั้งหมดประมาณ 200 คน ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มอบโฉนดที่ดินที่จะใช้สร้างศูนย์ฯ ให้แก่ตัวแทนคนไร้บ้านด้วย พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโนบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ จึงให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย 20 ปี โดยประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 2.5 ล้านครัวเรือน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยและมีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยกว่า 2 ล้านครัวเรือน รัฐบาลชุดนี้ได้เห็นความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดทำแผนงานการแก้ไขปัญหาขึ้นมา เพื่อรองรับผู้ที่เดือดร้อนกว่า 1 ล้านครัวเรือน “ในส่วนของคนไร้บ้านเราก็จะไม่ทอดทิ้ง เช่น ในกรุงเทพฯ จะมีสถานที่รองรับทั้ง 4 มุมเมือง ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ก็จะให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนช่วยดูแลให้ให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงต่อไป ซึ่งเมื่อมีที่อยู่อาศัยแล้วต่อไปก็จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีการรวมกลุ่มช่วยเหลือดูแลกัน ซึ่งผมเห็นว่าทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ แม้ว่าเราจะมีอาชีพเก็บขยะขาย แต่หากมีความขยัน มีความประหยัด คิดถึงอนาคตข้างหน้า และมีความมุ่งมั่นตั้งใจเราก็สามารถเปลี่ยนฐานะ และมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้ ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่ร่อนตลอดไป” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว ทั้งนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 52.34 ล้านบาท ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น โดยการจัดตั้งเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนไร้บ้านขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์พักพิง ให้คนที่ไร้บ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ได้ใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราว ขณะเดียวกันก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มคนไร้บ้านได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ถาวร ซึ่งจากการสำรวจของเครือข่ายคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีกลุ่มคนไร้บ้านประมาณ 166 คน ส่วนใหญ่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ตามที่สาธารณะ โดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยได้สนับสนุนให้กลุ่มคนไร้บ้านได้รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน และได้เสนอแนวทางให้รัฐบาลได้ช่วยแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านให้ดีขึ้น “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้รับงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 52 ล้านบาทเศษ เพื่อสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการตั้งหลักชีวิต พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน โดยผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การรวมกลุ่มสร้างอาชีพ การคัดแยกขยะ การปลูกผักสวนครัว การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือดูแลกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการเตรียมความพร้อมในการที่จะมีชีวิตและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงต่อไป” นายสมชาติกล่าว สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อที่ดินและปลูกสร้างอาคารให้แก่สมาคมคนไร้บ้าน จำนวน 26.40 ล้านบาท เนื้อที่ 330 ตารางวา โครงการตั้งอยู่ที่ถนนสุริยวงศ์ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพิธียกเสาเอกเพื่อก่อสร้างศูนย์ในวันนี้ ตามแผนงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในต้นปี 2561 สามารถรองรับกลุ่มคนไร้บ้านได้ประมาณ 50 คน โครงการศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังจะก่อสร้างนี้ มีห้องนอนรวม  5 ห้องสำหรับคนที่ไม่มีรายได้, จำนวน 17 ห้องสำหรับคนที่มีรายได้หรืออยู่ประจำ  และ 18  ห้องสำหรับผู้ที่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคงในอนาคต  เปลี่ยนจากคนไร้บ้าน  เป็นคนที่มีบ้านและมีครอบครัวที่อบอุ่นต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ได้สนับสนุนให้คนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ได้รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันเช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ โดยมีการเช่าที่พัก (อาคารพาณิชย์) เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน มีผู้เข้าอยู่อาศัยประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บขยะรีไซเคิลขาย ปัจจุบันที่พักเดิมหมดสัญญาเช่าแล้ว นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า ศูนย์ฟื้นฟูฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังจะก่อสร้างนี้ นอกจากจะเป็นที่พักพิงชั่วคราวของคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว  ศูนย์ฯ แห่งนี้จะเป็นพื้นที่เปิดเพื่อการพัฒนา และเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนทั่วไป เพื่อสร้างความเข้าใจกับปัญหาคนไร้บ้าน ภายในศูนย์ฯ จะมีห้องประชุม  ห้องจัดกิจกรรม  แปลงปลูกพืชผัก  ร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรที่คนไร้บ้านร่วมกันปลูก  ร้านกาแฟโบราณ   ฯลฯ  “ผมถือว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งหลักชีวิตใหม่ แม้ว่าเราจะล้มลุกคลุกคลานมาจากที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ที่นี่จะทำให้เรามีที่ตั้งหลัก เมื่อมีที่พัก มีข้าวกิน เราก็จะต้องมองไปถึงอนาคต คนที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยก็ต้องออกไปหางานทำ หรือเก็บของเก่าขาย มีรายได้ก็มาเอามาช่วยจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟให้ศูนย์ ที่เหลือก็เก็บออมเอาไว้เป็นทุนประกอบอาชีพ หรือสร้างบ้านเป็นของตัวเอง สร้างอนาคตใหม่ ไม่ต้องร่อนเร่อีกต่อไป” ตัวแทนคนไร้บ้านกล่าว ส่วนการบริหารจัดการของศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่นั้น ได้มีการจัดโครงสร้าง และแบ่งบทบาทหน้าที่ในการบริหารโดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนไร้บ้าน โดยมีเกณฑ์ในการตรวจสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามาอยู่ในศูนย์พัฒนาศักยภาพกลุ่มคนไร้บ้าน ดังนี้ 1.ต้องยอมรับหลักเกณฑ์ และระเบียบการอยู่อาศัยในศูนย์พักคนไร้บ้าน เพราะต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนไร้บ้านคนอื่น ๆ โดยการอธิบายทำความเข้าใจให้ยอมรับเหตุผลก่อนเข้าอยู่ในศูนย์ ยกเว้นกรณีพบคนไร้บ้านที่มีปัญหาฉุกเฉิน เร่งด้วย และเสี่ยงถ้าจะใช้ชีวิตอยู่ภายนอก เช่น ผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังเลี้ยงเด็กอ่อน หรือเด็กผู้หญิงที่อยู่ในภาวะเสี่ยง จะให้เข้าพักอาศัยในศูนย์ได้ทันที และทำความเข้าใจกฎระเบียบภายหลัง 2. ต้องมีอาชีพ และรายได้พอหาเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องเป็นอาชีพที่มั่นคง หรือมีรายได้มาก ซึ่งหากคนไร้บ้านเข้ามาอยู่ในศูนย์พักแล้วจะมีกระบวนการในการสนับสนุนด้านอาชีพเพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคง และยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง