ถก "ราชดำเนินเสวนา" ถอดบทเรียนความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมายปิดปากสื่อ หวั่นพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปิดช่องยัดข้อหาเล่นงานสื่อ แนะปฏิรูปกระบวนการสอบสวนชั้นต้น วันที่ 4 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตรงข้ามวชิรพยาบาล ถนนสามเสน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ถอดบทเรียนความไม่เป็นธรรมในการใช้กฎหมายปิดปากสื่อ" โดยมีนายทธิยง ลิ้มเลิศวาที นักจัดรายการสถานีโทรทัศน์ช่องนิวส์วัน ว่าที่พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง สภาทนายความ พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายณัชปกร นามเมือง จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นคณะผู้บรรยาย นายยุทธิยง กล่าวว่า ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะมีชีวิตที่ถูกออกหมายจับหรือออกหมายเรียก ก็บอกครอบครัวว่าเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพแล้วกัน ตัวเองก็ต้องพิสูจน์ความจริง แต่ก็เรียนรู้ได้ว่าในชีวิตสื่อก็ต้องเอาหัวใจในวิชาชีพไปแลกมา เพื่อมาเล่าเรื่องในสู่สังคม โดยใช้กรณีนี้เป็นบทเรียนให้น้องๆ และเป็นพัฒนาการเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งการรับรู้ข่าวสารเป็นลมหายใจที่สะอาด ส่วนเรื่องการส่งอาหารเข้าเรือนจำที่ตนมีคดี ก่อนหน้ามีเคยนำเสนอมาหลายสื่อแล้ว แต่ทางชาวบ้านพบเหตุการณ์แบบนี้ในนามผู้ค้าอาหารดิบในแต่ละจังหวัด แต่วันหนึ่งมีใครใครได้สัมปทานโดยอ้างว่าใช้สิทธิสหกรณ์ครอบคลุมหลายจังหวัด คนที่ได้สัมปทานก็บอกว่าถ้าอยากจะมาค้าก็ต้องมาจ่ายเงิน ตนก็ตรวจสอบก็พบว่าเป็นเรื่องจริง ก็บอกกับชาวบ้านไปว่ามาร้องเรียนสถานีเพื่อออกอากาศได้ ในเรื่อง "อาหารคนมีกรรมทำไมคนบาปต้องมาแย้งกิน" แต่สุดท้ายทุกคนก็ถูกจับข้อหาหมิ่นประมาทและผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ "มีการออกหมายเรียกไม่ถึงเดือนก็ออกหมายจับในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ศาลจ.อ่างทอง คืนนั้นเมื่อไปถึงกองปราบฯก็ถูกจับถ่ายรูปเป็นอาชญากร จากนั้นพาตนไปส่งมอบที่จ.อ่างทองถึงเวลาเที่ยงคืน และได้ประกันตัวเวลาตี 1 ก็เป็นชีวิตของสื่อคนหนึ่งที่เจอแบบนี้"นายยุทธิยง กล่าว พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การที่ประชาชนถูกกระทำเป็นความรู้สึกไม่ดีมานานมาก แต่ไม่มีใครพูดอะไร แต่มีคนเดือดร้อนจากกฎหมายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ตนแทบพูดอะไรไม่ออกกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในขณะนี้ เพราะตำรวจเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของไทย มีความสำคัญมากกว่าหลายประเทศ เพราะตำรวจมีอำนาจกล่าวหาและสอบสวนด้วยตัวเอง ทั้งที่ตำรวจประเทศอื่นไม่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งต่างจากเดิมในอดีตที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายอำเภอเป็นผู้สอบสวน ทำให้มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจในตอนนี้ ตำรวจในเครื่องแบบและพนักงานสอบสวนในนิติบุคคลเป็นคนๆเดียวกัน จึงเป็นที่มาของปัญหาสารพัดที่แก้ไขไม่ได้ ทั้งที่ต้องใช้ความจริงใจในการแก้ปัญหา เมื่อถึงโอกาสปฏิรูปตำรวจก็ไม่มีใครพูดถึง ปัญหาจึงเกิดจากระบบและคน พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า พนักงานสอบสวนที่เคยสัมผัสได้ว่าไม่ได้เป็นตัวของเขาเอง แต่มีใครชักใยเขาอยู่ คุณยุทธิยงถูกข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งที่ถ้าสิ่งไหนพบว่าเป็นความเท็จถึงจะต้องเอาเข้าระบบได้ แต่ปัญหาปัจจุบันมีคนเจตนาใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อปิดปากกลั่นแกล้งกับสื่อ โดยยัดข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้ปัญหาก็มาอยู่ที่พนักงานสอบสวน ซึ่งในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีโทษจำคุกถึง 5 ปี จึงนิยมใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นเครืองมือ แต่ปัญหาอยู่ที่วิธีปฏิบัติของพนักงานสอบสวน ทั้งที่ปัจจุบันบางเรื่องมีความเสียหายชัดเจน แต่กลับไม่รับแจ้งความก็เคยมี จึงเป็นปัญหาของการใช้กฎหมายที่เกิดจากระบบและบุคคล "ถ้าคนสุจริตไปศาลเขาไม่ได้กลัว แต่เขาเดือดร้อนจากกระบวนการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น หรือจากการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน แต่ถ้ามีการตรวจสอบแล้วก็ไม่ควรไปแจ้งข้อกล่าวหา หรือถ้ามีการยกฟ้องใครมารับผิดชอบตรงนี้ จึงต้องดูด้วยว่ากล่าวหาได้อย่างไร อัยการฟ้องได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องไม่ลอยตัวเรื่องนี้ จะมีใครรับผิดชอบถ้ายกฟ้องแล้วคนนั้นเสียหาย จึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนหรือไม่ โดยให้กระบวนการสอบสวนแยกออกมาให้เป็นอิสระเหมือนอัยการ"พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว ด้านว่าที่พ.ต.สมบัติ กล่าวว่า เรื่องการพูดต้องพูดด้วยความระมัดระวัง กฎหมายบอกว่าเรื่องจริงพูดไม่ได้ ถ้ากล่าวข้อความที่ไปกล่าวหาคนอื่นแม้เป็นเรื่องจริงก็พูดไมได้ สื่อมวลชนเรียกตัวเองว่าเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เวลามีสัญญาณอะไรก็ปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็มีคนบอกว่าสื่อมวลชนก็ใช้ปากเหมือนหน้าที่ที่ทำ แต่ก็ต้องดูว่าสื่อมีเจตนาอะไรหรือไม่ หากไม่เจตนาทำผิดองค์ประกอบเจตนาก็หลุดไป ซึ่งการทำหน้าที่ของสื่อไม่มีเจตนาก็ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบการกระทำความผิด หากอยู่ในขอบเขตที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยใช้หลักสุจริตในการทำหน้าที่ ทำเพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุดมีโทษถึง 5 ปี ใช้ขั้นตอนออกหมายจับได้เลย โดยไม่ต้องออกหมายเรียก ดังนั้นเมื่อใดที่ใช้กฎหมายผิดประเภท เพราะเขาต้องใช้โทษที่รุนแรง จึงถือว่าเป็นการใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ "เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วขอให้นึกถึงทนายความทันที เพื่อให้ทนายเข้าไปสังเกตการณ์เพื่อช่วยปกป้องสิทธิ์ของท่านได้เช่นกัน เพราะกฎหมายเป็นตัวหนังสือ การอ่านกฎหมายต้องตีความจากลายลักษณ์อักษร การที่ไปแปลอะไรมากกว่าที่แปลไว้ก็จะเป็นประเด็นมาใช้งานหรือไม่ ก็เป็นข้อกังขาที่เกิดขึ้น"ว่าที่พ.ต.สมบัติ กล่าว ขณะที่นายณัชกร กล่าวว่า ในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2550 ในมาตรา 14 วงเล็บ 1 ระบุว่านำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอม หรือเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จแล้วเกิดความเสียหายแก่ผู่อื่นและประชาชน ซึ่งจากเดิมนั้นกฎหมายฉบับนี้ออกแบบเพื่อมาใช้กับการป้องกันการปลอมแปลงไฟล์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีข้อความที่กำกวมที่ได้ครอบคลุมเนื้อหาไปด้วย จึงมีการใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นจำนวนมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีการนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ตามหลักการใช้ฎหมายต้องดูเจตนารมณ์ด้วย เพราะถ้าดูเจตนาข้อหาและหมายจับที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงเป็นความล้มเหลวในจุดนี้ ดังนั้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่คับแคบทำให้มีปัญหาออกมา ซึ่งสื่อก็ต้องมีการรณรงค์ว่ามีการใช้กฎหมายผิดวัตถุประสงค์จากการร่างกฎหมายนี้อย่างไร "การมีเสรีภาพย่อมดีกว่าอยู่แล้ว สุดท้ายกฎหมายปิดปากสื่อมีแค่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จริงหรือไม่ เพราะการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมีหลายรูปแบบ มีการใช้อำนาจกับสื่อ ซึ่งสื่อควรมีความรับผิดชอบที่จะนำเสนออยู่แล้ว แต่ถ้าทุกคนมีเสรีภาพเท่ากัน ทั้งรัฐและเอกชนก็มีสิทธิที่จะอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นที่ต้องใช้การฟ้องร้องได้"นายณัชกร กล่าว ฟังเนื้อหาการเสวนาทั้งหมด ที่มา : http://www.tja.or.th