กกต.ส่อไม่แย้ง ร่าง พ.ร.ปพรรคการเมือง สมชัย ระบุ พร้อมปฏิบัติแม้ยากขึ้น แจง ไม่ได้ให้เหลือง-แดง กรณีไพรมารี่ไม่ชอบ แต่เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติพบปัญหาไม่ประกาศเป็นผู้สมัคร-ส่งศาลเพิกถอน โต้ มีชัย ไม่เคยสั่งเจ้าหน้าที่บอก กรธ.พร้อมปฏิบัติไม่ขัดรธน. ยัน แจงได้ทุกประเด็นแต่ไม่ถูกใจ กรธ. แฉกลับ มีกรธ.ล็อบบี้เจ้าหน้าที่ให้บอกว่าปฏิบัติไม่ได้ 27 มิ.ย. - นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ที่ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ได้รับจากสนช.เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โดยมีเวลา 10 วัน ครบกำหนดวันที่ 5 ก.ค. พิจารณาว่ามีประเด็นใดขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญบ้าง ซึ่งได้มอบหมายให้กิจการพรรคการเมืองไปศึกษา ถ้าพบว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญให้เสนอต่อกกต.ในวันที่ 3 ก.ค.เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมกกต.ในวันที่ 4 ก.ค. แต่เบื้องต้นสอบถามเจ้าหน้าที่แล้วก็ระบุว่าไม่มีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมกับยืนยันว่ากกต.ไม่ได้สั่งให้นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต.ไปชี้แจงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าสามารถปฏิบัติได้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกมาระบุ เพราะ กกต.ไม่มีธงหรือคำสั่งว่าเจ้าหน้าที่ต้องตอบอย่างไร โดยเจ้าหน้าที่กกต.ตอบจากประสบการณ์จากการปฏิบัติอิงตามข้อกฎหมายตอบได้ทุกประเด็น เพียงแต่คำตอบอาจไม่ตรงใจ กรธ. พร้อมกับยกตัวอย่างคำถามที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตอบไม่ได้คือ คำถามที่ว่าถ้าหากกกต.ยืนยันว่าทำได้แล้วมีปัญหากกต.จะรับผิดชอบหรือไม่ ตนขอตอบแทนเพราะเป็นเรื่องของกกต.ด้วยการถามกลับไปที่กรธ.ว่า ถ้ากกต.ใหม่ 7 คนมาทำแล้วไม่ได้ผลดี หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำงานแล้วล้มเหลว กรธ.จะรับผิดชอบหรือไม่ ทั้งนี้ตนยืนยันว่าพร้อมให้สื่อมวลชนไปสอบถามโดยตรงกับนายแสวง เพราะได้อนุญาตให้นายแสวงพูดถึงประเด็นที่หารือกับกรธ.รวมทั้งประเด็นที่มีกรธ.ท่านไหนมาล็อบบี้ให้พูดว่าทำไม่ได้ด้วย ทั้งนี้ตนเห็นว่าฝ่ายที่เห็นว่าขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญควรยกเหตุผลขึ้นมาแย้ง ไม่ใช่บอกว่าเป็นเพราะกกต.ไม่พร้อมแล้วเอามาเป็นเหตุผล แล้วนำเรื่องนี้มาเป็นเหตุผลในการให้ตั้งกรรมาธิการร่วม “หลายคนไปเข้าใจผิดว่าเป็นการเอาคืนของกกต. เราไม่เคยคิดแบบนั้น เรามองสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นหลักว่ากฎหมายจะก่อให้เกิดผลดีต่อชาติหรือไม่ แม้ว่าคนของกกต.จะยากลำบากเพราะมีขั้นตอนการทำงานมากขึ้นแต่ก็พร้อมที่จะทำ ทุกอย่างเป็นไปด้วยเหตุผลและประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และระบบไพรมารี่โหวตพรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบพรรคการเมืองเล็ก เพราะมีสาขามีทุนแต่พรรคเล็กไม่มีสิ่งเหล่านี้ กรณีนี้พรรคเล็กพรรคกลางค้านเป็นเรื่องปกติแต่ที่พรรคใหญ่ค้านด้วยเป็นเพราะไม่เคยฟังเสียงจากประชาชนเพราะส่วนกลางจะเป้นคนชี้ตัวบุคคล ดังนั้นกรณีไพรมารี่โหวตทำให้อำนาจส่วนกลางหายไป จึงทำให้พรรคใหญ่ไม่ต้องการทำ ผมเห็นว่าระบบนี้จะเป็นการลบคำปรามาสที่ว่าพรรคส่งเสาไฟฟ้าหรือคนขับรถลงสมัครยังไงก็ได้รับเลือกตั้ง เพราะกระบวนการนี้จะทำให้ประชาชนเลือกทั้งคนทั้งพรรคแม้ว่าการปฏิบัติจะยากก็ต้องทำเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปสำเร็จ” นายสมชัย กล่าว นายสมชัย ยังยืนยันด้วยว่าการดำเนินการเพื่อคัดเลือกตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีหลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลบังคับ ไม่ต้องรอการแบ่งเขตตาม พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. อีกทั้งในการแบ่งเขตก็มักจะไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เพราะการแบ่งเขตครั้งแรกกับครั้งต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงบางจังหวัดแต่น้อยมาก การเตรียมการคนแต่ละเขตจึงสามารถวางคนล่วงหน้าได้ และแม้เมื่อมีกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา ก่อนรับสมัคร กกต.มีเวลาอย่างน้อย 20 วันก่อนการประกาศรับสมัครกกต.จะมีช่วงเวลา 15 วันก่อนถึงวันสมัคร ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เพียงพอที่พรรคการเมืองจะดำเนินการกระบวนการไพรมารี่โหวตได้ ส่วนประเด็นที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กกต.อาจเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญกรณีที่จะให้ใบเหลือง-ใบแดงจากการร้องเรียนว่ากระบวนการสรรหาไพรมารี่โหวตไม่ถูกต้องนั้น นายสมชัย กล่าวว่า เป็นการเข้าใจผิด เพราะไม่ใช่เรื่องของการให้ใบเหลือง-ใบแดง แต่เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติเหมือนที่กกต.เคยดำเนินการมาถ้าคุณสมบัติไม่ครบถ้วนก็สามารถไม่ประกาศรายชื่อผู้สมัครได้ เช่นเดียวกับระบบไพรมารี่โหวตหากทำไม่ถูกต้องก็ไม่ประกาศรายชื่อ แต่ถ้าไปพบปัญหาภายหลังจากได้รับเลือกตั้งแล้วกกต.ก็ส่งศาลให้เพิกถอนเพราะคุณสมบัติไม่ครบ สำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในการพิจารณาร่างพ.ร.ป. กกต.นั้น ทราบว่าสนช.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งในวันที่ 30 มิ.ย. และในวันที่ 3 ก.ค. น่าจะเป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งกกต.ก็ได้เสนอประเด็นที่เห็นว่า ร่างพ.ร.ป.กกต.มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญรวม 6 ประเด็น โดยประธานกกต.พร้อมเป็นตัวแทนของกกต.ไปเข้าร่วมประชุม แม้ว่าจะเป็นเพียงเสียงเดียวก็ตาม