จากกรณีที่เพจข่าวแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีได้โพสต์เรื่องราวปลากหมึกปลอมทำจากยางพาราโดยอ้างว่า ไปซื้อมาจากตลาดสดบ้านห้วยปลอม โดยผู้สื่อข่าวภูมิภาคสยามรัฐประจำจังหวัดอุดรธานี ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา แอดมินเพจเฟสบุ๊ค ชื่อดัง ได้โพสต์คลิปวีดีโอ โดยระบุว่า #ปลาหมึกปลอม เจอมากับตัว ไม่น่าทำถึงขั้นนี้เลย เอาเปรียบกันโพ้ด สสจ. ตรวจสอบด้วยครับ ตลาดบ้านห้วย ซึ่งคลิปวีดีโอดังกล่าวมีคนเข้ามาชมจำนวนมาก พร้อมแสดงความเห็นไปต่างๆ นานา กลายเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ ทำให้เจ้าของร้านรู้สึกเสียใจเพราะทำให้เสียชื่อเสียง ภายหลังที่มีข่าวออกไป ทางโซเซียลกรณีดังกล่าว ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำโดยนายแพทย์สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีก็ได้เข้าไปตรวจสอบที่ร้านจำหน่ายอาหารทะเลชื่อร้าน pt ปลาทะเล ซึ่งอยู่บริเวณตลาดบ้านห้วย เขตเทศบาลนครอุดรธานี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นปลาหมึกวง และเป็นปลาหมึกจริง ไม่ใช่ของปลอมที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และเพื่อความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสารฟอร์มาลีนด้วย แต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด ฉะนั้นปลาหมึกที่เพจข่าวโซเซียลนำไปแชร์กันนั้นยืนยันจากนายแพทย์สาธารณสุขแล้วว่าเป็นของจริงแน่นอน ขณะเดียวกัน ทางทีมงานได้สัมภาษณ์ เภสัชกรอดุลย์ ลาภะแนน หัวหน้างานเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสธารณสุข จังหวัดอุดร ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในประเทศไทยที่มีการทำปลาหมึกปลอม ยังไม่มีการตรวจพบเหตุเพราะต้นทุนในการผลิตนั้นสูงมีราคาแพงกว่าปลาหมึกที่มีขายอยู่ในท้องตลาดอาจต้องใช้ทุนสูงในการปลอม ปลาหมึกที่ทางร้านนำมาจำหน่ายนั้น เป็นปลาหมึกกล้วยสายพันธ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งตกราคาประมาณ กิโลกรัมละ 170-180 บาท ส่วนที่มีลักษณะแข็งนั้นเกิดจากการแช่แข็งฟีชในตู้เย็นนาน หากผู้บริโภคมีข้อสงสัย ในส่วนของอาหารสำเร็จรูปสิ่งที่ต้องสังเกต ในกรณีที่เป็นอาหารที่มีการควบคุมตามกฎหมาย จะต้องมีเครื่องหมาย/สัญลักษณ์แสดงให้เห็น เช่น เครื่องหมาย อย. เครื่องหมาย มอก. ที่สำคัญคือ จะต้องเลือกซื้ออาหารที่ใหม่ สดโดยดูจากวันที่ผลิต หรือ วันหมดอายุบนฉลากบรรจุอาหารเป็นสำคัญ “ส่วนการเลือกซื้ออาหารทะเลถ้าอยากได้ของสดใหม่ บางครั้งคงต้องพิถีพิถันในการเลือก เพราะถ้าไม่ใช่ของสดใหม่จริงมักจะมีสารปนเปื้อนซึ่งอาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายของเราได้” เภสัชกรอดุลย์ กล่าวทิ้งท้าย ทางทีมไขประเด็นโชเชียลจึงขอฝากไปยังเพจข่าวโซเชียลต่างๆ ที่มีข้อมูลมาขอให้ตรวจสอบวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ให้ถี่ถ้วนเสียก่อนที่จะมีการแชร์หรือโพสต์ออกไปเพราะอาจทำให้ผู้ถูกพาดพิงเกิดความเสียหาย และได้รับความเดือนร้อนได้ โดย...สยามรัฐออนไลน์