คอลัมน์ "เหรียญสองด้าน" นโยบายพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำในกทม.ที่ถูกจับตามองมากที่สุดในปัจจุบัน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง คงหนีไม่พ้น โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ ทางเดิน-ปั่นเลียบแม่น้ำ ที่รัฐบาลมอบหมายให้กทม.ทำ เริ่มต้นมาจากนโยบายรัฐทีเห็นว่าประชาชนคนไทยยังเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในวงแคบ รวมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาเสื่อมโทรมลงไปทุกวัน คนทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสีย สร้างสิ่งปลูกสร้างบุกรุกแม่น้ำ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินหน้าโครงการเพราะมีกลุ่มคนที่คัดค้าน ด้วยเห็นว่าโครงการไปทำลายอัตลักษณ์ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ สิ่งแวดล้อม ทางเดินของน้ำ และยังอาจเสี่ยงกับปัญหาอาชญากรรม แต่ที่สุดโครงการยังเดินหน้า... นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.ที่คลุกคลีตีโมงกับเรื่องนี้มาตลอดนับแต่ได้รับมอบตำแหน่งรองผู้ว่าฯ เผยโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรและพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำ ทำให้เกิดการเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแน่นอนว่าโครงการขนาดใหญ่ระดับนี้ย่อมมีผลกระทบกับประชาชน แต่ต้องไม่ลืมว่าปัจจุบันมีการบุกรุกสร้างบ้านเรือนล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหากเราปล่อยไว้ในอนาคตย่อมส่งผลกระทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด รองผู้ว่าฯเผย แม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่ผู้ที่บุกรุกก่อสร้างบ้านเข้ามาในแม่น้ำหลายชุมชนต่างให้ความร่วมมือรื้อย้าย ทำให้สามารถเดินหน้าโครงการไปได้ ส่วนเรื่องการชี้แจงตอบคำถามกับกลุ่มที่เห็นต่างหรือผู้ที่สงสัยนั้น กทม.และผู้เกี่ยวข้องพร้อมตอบทุกประเด็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน โดยพร้อมรับฟังพร้อมกับให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ “การพัฒนากรุงเทพฯ เป็นงานใหญ่และยาก เนื่องจากเมืองหลวงของเรามีความซับซ้อน มีมิติที่หลากหลาย โครงการพัฒนาใดๆ ย่อมต้องมีผลกระทบอยู่บ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อมองถึงเป้าหมายสุดท้ายและคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของเมืองขนาดใหญ่ เชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย” ทั้งความสะดวกในการเดินทางด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรในชุมชนริมแม่น้ำ ให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ทั้งทางบก ทางน้ำและทางราง ตลอดจน พัฒนาภูมิทัศน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเติมเต็มภาพความเป็นเมืองที่เจริญอย่างยั่งยืนให้แก่กรุงเทพฯ สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกทม.ระยะแรก ช่วงสะพานพระราม7ถึง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความยาว14กิโลเมตร จะก่อสร้างเป็นทางเดินทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา กว้างประมาณ10เมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ และเส้นทางเข้าถึง การก่อสร้างแบ่งเป็น4ช่วง1.จากสะพานพระราม7 -คลองสามเสน พื้นที่เขตบางซื่อ,ดุสิต งบฯ1,770ล้านบาท2.จากคลองสามเสน - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า พื้นที่เขตดุสิต,พระนคร งบฯ2,470ล้านบาท 3.จากสะพานพระราม7 -คลองบางพลัด พื้นที่เขตบางพลัด งบฯ2,061.5ล้านบาท 4.จากคลองบางพลัด - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า พื้นที่เขตบางพลัด งบฯ2,061.5ล้านบาท อยู่ระหว่างคณะกรรมการจัดทำราคากลางต้นเดือนสิงหาคมนี้จะแล้วเสร็จเข้าสู่กระบวนการหาตัวผู้รับจ้างต่อไป คาดจะสามารถลงนามสัญญาก่อหนี้ผูกพันได้วันที่ 20 ธ.ค.60 ใช้เวลาก่อสร้างช่วงละ540วัน อาจแบ่งดำเนินการหรือทำพร้อมกันทั้ง4ช่วง งบฯก่อสร้างรวม8,363ล้านบาท ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะปัญหาการรุกล้ำขณะนี้ในส่วนการพิจารณาบ้านรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านที่รุกล้ำ 273หลังใน14ชุมชน ในพื้นที่เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร บางพลัด กทม.ได้เจรจาชาวบ้านให้รื้อย้ายโดยมีเงินช่วยเหลือ ตามมติคณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบมีกทม. กรมเจ้าท่า กรมที่ดิน กรมทางหลวง คิดราคาเงินช่วยเหลือตามมูลค่าประเมิน ประกอบด้วย ราคาวัสดุ ค่าแรงก่อสร้าง ค่ารื้อถอน และค่าขนย้าย ซึ่งชาวบ้านยินยอมทุกราย มี 129ราย ขอรับเงินไปซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านตามขั้นตอนช่วยเหลือของ พอช. คาดว่าภายใน 3 เดือนจะย้ายไปเข้าอยู่ได้บางส่วน ที่เหลืออีก 144 ราย จะเข้ารื้อถอนเลย โดยดำเนินการไปแล้ว 53 หลัง และจะทยอยรื้อจนครบ นอกจากนี้มีโป๊ะเรือและท่าเทียบเรือ9 แห่ง รวมเงินช่วยเหลือ 104,530,599 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค.60ได้มอบเงินช่วยเหลือให้บ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว 4 ชุมชน คือ ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่, ชุมชนวัดสร้อยทอง, ชุมชนท่าเรือเกียกกาย และชุมชนเขียวไข่กา ทั้งนี้ โครงการได้เดินตามโรดแม็พที่วางไว้ ท่ามกลางการจับตาของทุกฝ่ายว่าสุดท้ายโครงการจะสำเร็จได้ประโยชน์ดังหวัง หรือจะซ้ำรอยอดีตอีกหลายๆ โครงการ นารีนาฏ ภัยวิมุติ