พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ไม่น่าแปลกใจว่า ค่าจ้างหรือค้าแรงขั้นต่ำ ม่แต่จะปรับขึ้นเรื่อยๆ การพิจารณาเพื่อปรับเพิ่มค่าแรงให้กับผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ส่งกระทบทั้งลบและบวกทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังกระทบต่อด้านอื่นๆด้วย เช่น ปัญหาสังคม เป็นต้น ดังนั้น นอกเหนือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจแล้ว หน่วยงานด้านอื่น อย่างเช่น หน่วยทางด้านความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ ก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยอย่างสำคัญ ตัวอย่างเช่น หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย ก็จะส่งผลกระทบให้มีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น แรงงานเหล่านี้ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ ขณะที่ไทยเรานั้น ยังไม่มีการบูรณาการหน่วยงานที่ดูแลด้านแรงงานด้านต่างด้าวเข้าด้วยกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ ตม. กับกระทรวงแรงงานนั่นเอง ในอเมริกาก็มีปัญหาด้านแรงงานมากเช่นเดียวกัน จนนำไปสู่การประกาศนโยบายของแต่ละรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานที่อพยพมาจากเม็กซิโก และประเทศอื่นๆในลาตินอเมริกา แรงงานเหล่านี้หนีเข้ามาทำงานในอเมริกา จนกลายเป็นกลุ่มชนก้อนใหญ่มากกว่า 10 กว่าล้านคน ส่วนใหญ่ก็เพื่อแสวงหาโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ เหมือนแรงานพม่า เขมรและลาว ในเมืองไทย ไม่ว่ารัฐบาลใหม่ของไทยจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ปัญหาแรงงาน และเรื่องค่าแรงก็ยังจะเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญต่อไปและพร้อมที่จะปะทุ ลามออกไปในส่วนอื่นๆ หากว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ภาพรวมของการแก้ไขปัญหาแรงงานของรัฐบาลอเมริกันในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จากข้อสังเกตของผมเอง น่าจะแบ่งออกได้ดังนี้ 1.ประเด็นการพิจารณาคัดเลือกแรงงาน คำนึงคุณภาพแรงงานเป็นหลัก แรงงานอเมริกันได้ถูกพัฒนาจนเกิดทักษะ (Skill) ในการทำงาน ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับค่าแรง ที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยวัดจากความสามารถหรือความชำนาญในการทำงานแต่ละสาขาอาชีพ ไม่ได้ประเมินแงงานจากวุฒิการศึกษาเหมือนดังแรงงานและระบบการจ้างงานในเมืองไทย ทักษะที่ว่านั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะงานด้านช่างอย่างเดียว แต่รวมทุกอย่างทุกสาขาอาชีพ ทุกประเภท มีคำว่า “มืออาชีพ” การันตี ผ่านระบบใบอนุญาต (License) การคิดค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง ที่นี่คิดเป็นรายชั่วโมง วัฒนธรรมการพิจารณาคัดกรองแรงงาน นายจ้างพิจารณาจากประสบการณ์และทักษะเป็นหลัก มียกเว้นบางประเภทเฉพาะเท่านั้น ที่คัดกรองจากวุฒิการศึกษา 2.การพิจารณาค่าจ้างหรือค่าตอบแทนแรงงาน ใช้เกณฑ์ทักษะ และประสบการณ์การทำงานของแรงงาน ขอบเขตของความรับผิดชอบในงานนั้นๆ ความเสี่ยงภัย หรือเสี่ยงอันตราย ความโดดเดี่ยวถูกกันออกจากครอบครัว (เช่น งานโครงการวิจัย หรืองานความลับของเอกชนหรือรัฐบาลบางประเภท) วัฒนธรรมการพิจารณาเพื่อจ้างแรงงานและให้ค่าตอบแทน ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา เช่น คนงานก่อสร้าง คนงานกวาดขยะ ได้ค่าตอบแทนรายชั่วโมงมากกว่าพนักงาน ที่นั่งหน้าเค้าน์เตอร์ของธนาคาร เป็นต้น 3.ลักษณะการทำงานในองค์กร จากรูปแบบการจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงนั้น ทำให้แรงงานหรือลูกจ้าง ต้องทำงานเต็มความสามารถ พูดง่ายๆ คือ อู้งานไม่ได้ งานที่ออกมาต้องมีประสิทธิภาพ คุ้มกับค่าจ้าง ไม่เป็นลักษณะเช้าจามเย็นชาม องค์กรหรือนายจ้างเอง พยายามลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนเพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองค่าใช้ในการจ้างงาน เกิดระบบที่เรียกว่า One stop service โดยอัตโนมัติ พูดง่ายๆ คือ นายจ้างใช้แรงงานคุ้มกับค่าจ้าง เช่น ใช้พนักงานของเทศบาลเพียงคนเดียวทำงานเก็บขยะ ขับรถเก็บขยะคนเดียว คันเดียว โดยไม่มีผู้ช่วย หรือแม้แต่พวกช่างด้านบริการต่างๆ ก็ทำคนเดียว โดยรถคันเดียวเช่นกัน เป็นต้น 4. การพัฒนาฝีมือแรงงานแรงงานในองค์กร องค์กรหรือนายจ้างให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างมาก ในรอบปีหนึ่งๆ มีการฝึกอบรมให้กับพนักงานที่เป็นแรงงาน (ลูกจ้าง) เพื่อเสริมทักษะให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและร่วมสมัย กล่าวคือมีการ up to date อยู่อย่างสม่ำเสมอ ในกรณีของในอนุญาตในอาชีพต่างๆสถาบันวิชาชีพมีการกำหนดเป็นระยะๆ เพื่ออบรมและสอบทบทวนความรู้ ความสามารถ แรงงานหรือพนักงานจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้อยู่เสมอ 5. การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน ตลอดที่ผ่านมา 10 กว่าปี หน่วยงานของเอกชนและรัฐของอเมริกันให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคดิจิตัลหรือยุคออนไลน์ งานหลายประเภทไม่ต้องไปทำงานที่สำนักงานก็ได้ สามารถทำอยู่กับบ้านหรือที่ไหนก็ตาม ทำให้องค์กรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการแรงงงานหลายเรื่อง อย่างน้อย ก็ค่ายานพาหนะ เป็นต้น 6. ในแง่สวัสดิการแรงงาน เป็นเงื่อนไขตามกฎหมายแรงงานที่นายจ้างหรือองค์กรต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้าง เช่น ในด้านการประกันสุขภาพ ด้านสวัสดิการเงินสำรองเลี้ยงชีพ ด้านการจัดการเงินออมระยะยาวสำหรับลูกจ้าง ด้านที่สัมพันธ์กับสหภาพแรงงานที่เรียกกันติดปากในบรรดาแรงงานอเมริกันว่า Union หรือแม้กระทั่งงานด้านการจัดการเรื่องเงินออมระยาวสำหรับการรีไทร์ของพนักงาน ที่เรียกว่า 401K ที่รัฐหนุนผ่านมาตรการทางด้านภาษี หรือปลอดภาษี นั่นเอง เป็นต้น 7.ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เรื่องนี้นับว่าสำคัญมาก หลักๆ ก็คือ กระทรวงแรงงาน (Department of Labor) กับกระทรวงความมั่นคงภายใน (Department of Homeland Security) กระทรวงแรกนั้นดูแลด้านแรงงานและนายจ้างโดยตรงในหลายๆด้าน เช่น คุณภาพของแรงงาน ค่าแรง ความถูกต้องปลอดภัยของสถานประกอบการ การละเมิดกฎหมายแรงงานของนายจ้างและลูกจ้าง สวัสดิการของแรงงาน เป็นหลัก ขณะที่หน่วยงานหลัง ดูแลและจัดการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ เพราะในอเมริกา แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอเมริกันอย่างมาก แรงงานเหล่านี้คือผู้ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจอเมริกาในหลายภาคส่วนเดินหน้าไปได้ด้วยดี ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งทะลักเข้ามาจากพรมแดนที่อยู่ติดกับอเมริกาด้านใต้ คือ พรมแดนเม็กซิโก ถึงขนาดรัฐบาลอเมริกันลงทุนสร้างกำแพงยาวกว่า 3000 กว่ากิโลเมตร ที่เรียกว่าThe Mexico – United States barrier มากั้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้มากนัก กระทรวงความมั่นคงภายใน แปรสภาพมาจากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของอเมริกันเดิม คือ INS- Immigration and Naturalization services) เนื่องจากรัฐบาล (ในสมัยนั้นคือ รัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช) เห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างด้าวว่าเริ่มมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ตลอดถึงความไม่มั่นคงของชาติ จากผลพวงของการก่อการร้ายในหลายๆที่ทั่วโลก ที่กระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ของอเมริกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ปัญหาภายใน ได้แก่ ปัญหาแรงงานเถื่อนในประเทศจำนวนมาก ที่ส่งผลต่อปัญหาสังคมของอเมริกัน นอกเหนือไปจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ที่คนอเมริกันจำนวนมากหวั่นวิตก ว่าลูกหลานของแรงงานเหล่านี้มาแย่งสวัสดิการไปจากคนอเมริกันในประเทศ ตัดทอนเอาทรัพยากรต่างๆ ไปใช้ ขณะที่ฝ่ายอเมริกันอยู่ในฐานะผู้จ่ายภาษี หรือเป็นผู้ให้ ที่เห็นชัด ก็คือ สวัสดิการด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข ในประเด็นแรงงานนี้ น่าลองคิดเปรียบเทียบกับระบบของเมืองไทย ทั้งในเรื่องของระบบการคัดสรรหรือเกณฑ์การคัดสรรแรงงานเพื่อนำมาใช้ ระบบการทำงาน ระบบการจ่ายค่าแรง วัฒนธรรมองค์กร กระทั่งถึงข้อสุดท้าย คือ ผลกระทบจากอัตราของค่าแรงในช่วงขณะนั้นๆ ในประเด็นที่ 7 ไม่ว่าจะขึ้นค่าแรงหรือไม่ก็ตาม คนไทยก็ได้รับผลกระทบจากการไหลทะลักเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว หากว่าขึ้นค่าแรง แน่นอนผลกระทบย่อมจะเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย ขณะที่หน่วยงานของรัฐไทยยังทำงานกันไม่เป็นระบบ งานต่างด้าวกลับฝากไว้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงงานด้านอื่นๆอีกหลายหน่วยงาน หมายถึง ความจำเป็นที่เราจะต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญและกำกับงานต่างด้าวโดยเฉพาะหรือไม่ อันนี้ฝากไปพิจารณากัน เพราะปัญหาต่างด้าวเริ่มมีมากเป็นทวีคูณเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม อย่างเช่น ข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่า จำนวนนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดกทม.ขณะนี้ มีนักเรียนต่างด้าวเพิ่มขึ้นจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว ก็น่าจะเป็นสัญญาณชี้อะไรบางอย่างได้อย่างดี