รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวไล เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบังเอิญได้ข่าวเกี่ยวกับ “การแย่งอาชีพคนไทย” จากแรงงานต่างด้าวที่ส่วนใหญ่เป็น “แรงงานสหภาพเมียนมาร์” แต่เดิมนั้นเป็นเพียงมารับจ้างเป็นแรงงานทั่วไป โดยเฉพาะเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน หรือคนไทยเรียกว่า “คนใช้” ตามด้วยช่วยเป็นเด็กขายของทั้งหน้าร้านและหลังร้าน ตลอดระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันนี้เกิดการปรับเปลี่ยนการแย่งอาชีพจากเด็กใช้แรงงาน กลายเป็น “เจ้าของกิจการเสียเอง!” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม ถึง 22 มิถุนายน 2559 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรีและสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของร้านในห้างสรรพสินค้า 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7% ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้านหรือแผงค้ามีสัญชาติเมียนมาร์ 44.5% กัมพูชา 21.4% สปป.ลาว19.8% เวียดนาม 4.4% จีน 1.6% แม้กระทั่งชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ อีก 2.7%ในการสำรวจพบอีกว่า “ผู้ค้าคนไทยและต่างด้าวขาดการรับรู้ด้านกฎหมาย” โดยผู้ค้าชาวไทยประมาณ 3ใน4 รับรู้ว่ามีคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ทราบว่า “อาชีพค้าขายของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย” ขณะที่ผู้ค้าต่างด้าวที่รู้ว่าผิดกฎหมายเพียง 1ใน 4 โดยผู้รู้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เป็นเจ้าของเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นต่างด้าว พบว่า มีสถานภาพเป็นเจ้าของ 42.9% เป็นลูกจ้าง 45.8% และค้าขายให้กับครอบครัวหรือญาติ 11.3% สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกร แต่ทางปฏิบัตินายจ้างต้องการแรงงานมาทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการช่วยขายของหน้าร้าน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง นอกจากนี้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายเลย มีสัดส่วน41.3% อาจเพราะแรงงานต่างด้าวมีเพื่อน ญาติ เครือข่ายทำให้มีช่องทางค้าขาย ขณะที่ 1ใน3 ของผู้ค้าต่างด้าว เป็นเจ้าของร้านหลังเข้ามาแล้ว 2-3 ปี ชี้ให้เห็นว่า แรงงานต่างด้าวปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมเข้ามาเป็นแรงงาน ปรับเป็นผู้ประกอบค้าขายเพิ่มขึ้น แม้มีการจับกุมแต่กว่าครึ่งก็จะกลับมาค้าขายใหม่อีก ด้านรายได้ พบว่า ผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และ กว่า 80% ส่งเงินกลับประเทศเดือนละครั้ง โดยครั้งละ 1,001-5,000 บาท คิดเป็น 52% และส่งเงินกลับครั้งละ 5,001-10,000 บาท คิดเป็น 35.1% ทั้งนี้ การเข้าสู่อาชีพค้าขายรายย่อยของคนต่างด้าว มีทั้งเข้าเมืองมาใช้แรงงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนมาค้าขายรายย่อย หรือ การตั้งใจเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เช่น ถือวีซ่านักท่องเที่ยว เป็นแรงงานเถื่อน เป็นต้น ส่วนการคงสภาพอาชีพค้าขายไว้ของต่างด้าว คือ “การจ่ายส่วย” ให้เจ้าหน้าที่ ให้คนไทยรับหน้าเป็นนายจ้าง วนเวียนไปกลับประเทศไทยกับประเทศต้นทาง และ มีเครือข่ายแจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้ไม่ถูกจับกุม ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยของไทยทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยผลดีคือส่งเสริมให้ตลาดมีความคึกคัก ดึงดูดคนต่างด้าวอื่นๆมาซื้อสินค้า และทำให้มีสินค้าหลากหลาย ส่วนผลเสียคือ “การแย่งอาชีพคนไทย” รวมทั้งตั้ง “กลุ่มอิทธิพล” และผลกระทบอีกหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพอนามัย เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ ปัญหาอาชญากรรมและการทะเลาะวิวาท การแพร่ระบาดของโรค ความต้องการทรัพยากรพื้นฐานและงบประมาณที่ต้องใช้การดูแล อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเมียนมา เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหลังการเปิดประเทศ ทำให้กำลังซื้อของชาวเมียนมาก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากนี้ไปก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบดั้งเดิม หรือ โชห่วย ไปสู่ค้าปลีกสมัยใหม่  คำถามก็คือว่า แล้วโอกาสสำหรับค้าปลีกไทย มีมากน้อยแค่ไหน คำตอบคือมีอยู่มาก เพราะในเมียนมาเอง ก็มีสินค้าไทยเข้าไปขายจำนวนมาก และรู้จักสินค้าไทยเป็นอย่างดี แถมมีการประเมินกันจากธนาคารเพื่อพัฒนาเอเซีย ว่ารายได้เฉลี่ยของชาวเมียนมา จะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในอีก 13 ปีข้างหน้าหากพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ยังคาดว่ารายได้เฉลี่ยของประชาชนเมียนมาจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 13 ปีข้างหน้า จากรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 44,415 บาทในปีที่ผ่านมา  กำลังซื้อของชาวเมียนมาจะเพิ่มมาตามรายได้ที่สูงขึ้น จึงเป็นโอกาสแก่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกในเมียนมา เป็นรูปแบบ "ค้าปลีกดั้งเดิม" ประมาณร้อยละ 90 และเป็น "ค้าปลีกสมัยใหม่" โดยผู้ประกอบการท้องถิ่น เพียงร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม ซึ่งเปิดรับการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนเมียนมา ขณะนี้มีสัดส่วนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อยู่ที่ร้อยละ 24 ฉะนั้นแล้วธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมา จึงยังโอกาสขยายตัวได้อีกมาก นอกเหนือจากเทรนด์ของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมาที่กำลังมาแล้ว ซึ่งอาจไม่แตกต่างจากประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาลงลึกในข้อมูลเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่หลั่งไหลเข้าลงทุนในเมียนมาระหว่างปี 2555-2558 ที่มีมูลค่ากว่า 650,000 ล้านบาท จะพบว่า มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้นที่ลงทุนในธุรกิจบริการและค้าปลีก ดังนั้นการลงทุนธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมาจึงยังต้องการเม็ดเงินลงทุนเพิ่มอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอร์  นอกเหนือจากโอกาส และแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีทิศทางสดใสแล้ว นักลงทุนและผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ของไทย ยังมีแต้มต่อเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ นั่นก็คือ การที่ไทยมีชายแดนติดกับเมียนมา และยังมีความเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างกัน และชาวเมียนมายังชื่นชอบสินค้าไทย โดยเชื่อมั่นในคุณภาพ ภาพลักษณ์และราคาที่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าที่ผลิตจากแหล่งอื่น ทั้งนี้ ไทยกับสหภาพเมียนมาร์ที่มีชายแดนติดต่อกันตลอดแนวประมาณ 1,400 กิโลเมตร โดยที่ชาวเมียนมาร์สามารถเดินทางเข้าออกประเทศไทยได้เกือบตลอดแนว ทั้งๆ ที่ไทยเราเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงานได้อย่างถูกต้องกฎหมาย แต่เราต้องระวัง “การแย่งอาชีพคนไทย” ซึ่งความจริงต้องยอมรับว่า “เขาแย่งอาชีพคนไทย” ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้ามาแย่งการเป็น “เจ้าของกิจการ” เองนั้น ถามว่า “ทำได้หรือไม่” ก็น่าจะทำได้ แต่ต้อง “ควบคุม” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องระวัง ไม่ว่ากรณี “การจัดเก็บภาษี” และ “การจัดตั้งกลุ่มอิทธิพล” ทั้งนี้ คนไทยไม่ค่อยชอบงานระดับล่างอยู่แล่ว จึงต้องระวัง! ………………………..