ประธานาธิบดี โดนัด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษ ให้สิทธิอำนาจกับนายโรเบิร์ต ไลท์ไทเซอร์ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ดำเนินการตรวจสอบแนวทางปฏิบัติทางการค้าของจีน ยูเอ สทีอาร์ จะทำการตรวจสอบว่า กฎหมาย นโยบาย แนวทางปฏิบัติ หรือการกระทำใดๆ ของจีน ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม หรือการพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐ หรือไม่ ภายใต้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐ และที่หนักกว่านั้นคือ นายสตีฟ แบนนอน หัวหน้านักวิเคราะห์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐกำลังทำสงครามทางเศรษฐกิจกับจีน ขณะที่มีเดิมพันสูง เขากล่าวว่า “สำหรับผม การทำสงครามทางเศรษฐกิจกับจีนคือทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเราจะต้องให้ความสนใจ ถ้าเรายังคงพ่ายแพ้ จะทำให้เราเข้าใกล้จุดวิกฤตราว 5-10 ปี ซึ่งเราจะไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้” สรุปว่าสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามเศรษฐกิจกับจีน แม้ว่าตำนี้จะยังมิได้ออกจากปากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ตาม ฝ่ายจีนเพิ่งจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ กลุ่มประเทศ Brics ครั้งที่เก้า ที่เซี่ยเหมินเมื่อไม่กี่วันก่อน กลุ่มประเทศ Brics เป็นพันธมิตรการค้าของจีน เมื่อสหรัฐอเมริกาจะทำสงครามเศรษฐกิจกับจีน ก็ย่อมกระทบกระเทือนไปถึงพันธมิตรของจีนด้วย กลุ่มประเทศ BRICS เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอันประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกมองว่า ประเทศกลุ่ม BRICS พยายามที่จะสร้าง สมาคมหรือพันธมิตรทางการเมือง” และพยายามเปลี่ยน “อำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตให้เป็นอำนาจการเมืองทางภูมิภาค” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่เมืองเยคาเทอรินเบิร์ก และประกาศเรียกร้องให้ระเบียบโลกใหม่มีหลายขั้วอำนาจ ทุกวันนี้ Brics เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการย้ายอำนาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มพัฒนาแล้วอย่าง G7 มาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS รวมกันสามารถบดบังกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยในขณะนี้ได้ ปัจจุบัน ประเทศทั้งสี่รวมกันมีพื้นที่มากกว่าหนึ่งในสี่ของแผ่นดินโลก และมากกว่าร้อยละ 40 ของประชากรโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีรวมถึงมีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนกับประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS ที่สําคัญ ดังนี้ ไทย-จีน ได้แก่การทํา ASEAN-China FTA ในกรอบพหุภาคีความร่วมมือในกรอบทวิภาคีต่างๆ เช่น แผนพัฒนาระยะ 5 ปีระหว่างไทย-จีน (พ.ศ.2555-2559) ภายใต้ความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและ ราชอาณาจักรไทย, แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีนฉบับที่ 2 (2555 – 2559) ไปจนถึงกลไกในรูปแบบของคณะทํางานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆของจีนในระดับมณฑลเป็นต้น ไทย-อินเดีย อยู่ระหว่างการเจรจา FTA ระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้สินค้าจํานวน 83 รายการมีภาษีเป็นศูนย์แล้ว นอกจากนี้อินเดียยังเป็นตลาดใหม่ที่สําคัญที่สุดของไทย โดยในปี 2554 อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทยและเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในเอเชียใต้โดยระหว่างปีพ.ศ. 2552-2554 มูลค่าการค้ารวมไทย-อินเดียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทย-รัสเซีย รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States : CIS) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมไทย-รัสเซีย ระหว่างปีพ.ศ. 2552 -2554 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทย-บราซิล ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามความตกลงทวิภาคีทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งในปีพ.ศ. 2554 ทั้งไทยและบราซิลต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกันในอาเซียน และลาตินอเมริกา (แทนที่สิงคโปร์) ไทย-แอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกาและเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของไทยในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้นอกจากนี้ในปี 2554 แอฟริกาใต้ยังเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย จะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้ารวมของไทยกับประเทศต่างๆในกลุ่ม BRICS มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทยควรเร่งขยายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ Brics ให้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นโดยเร็ว