เมื่อวันที่ 27 เม.ย.นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์Facebook Chao Merkhuad เรื่อง สิทธิส่วนบุคคลกับการสอบสวนโรคยุคโควิด-19 ข้อกฎหมายที่ควรแก้ไข มีเนื้อหา ระบุว่า ความล่าช้าในการสอบสวนโรคเพื่อที่จะทราบข้อมูลที่แท้จริง ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลการเดินทางจากผู้ป่วย และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ที่ไม่ยอมให้ข้อมูลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การควบคุมโรคทำได้ล่าช้า ส่งผลให้การระบาดแพร่ไปในวงกว้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ถ้านำไปเปิดเผยจะเป็นความผิด หรือละเมิดสิทธิผู้ป่วยตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เว้นแต่เจ้าตัวจะยินยอม ถึงแม้จะมีข้อยกเว้นซ้อนไว้ว่า ถ้ามีกฎหมายอื่นบัญญัติไว้เฉพาะ ก็สามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลได้ แต่ต้องทำเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และนอกจากนี้การปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งข้อมูลการเดินทางต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ตาม "แต่กฎหมายดังกล่าวก็ให้สิทธิเฉพาะเจ้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงบุคคลภายนอกเช่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม.อสส. หรือพลเมืองดี ที่รู้ข้อมูลของผู้ป่วยและผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งถ้าหากนำไปเผยแพร่ก็อาจจะมีความผิด เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าถ้าจะให้การตรวจหาผู้ป่วยหรือไทม์ไลน์ของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว สมควรที่จะออกกฎหมายยกเว้นข้อกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วยไว้ชั่วคราวในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิดที่รุนแรง โดยให้บุคคลภายนอกสามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลหรือไทม์ไลน์ของผู้ป่วยโควิดและผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องให้ชุมชนหรือสาธารณะทราบ เพื่อป้องกันภัยพิบัติส่วนรวมได้ทันท่วงที จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจพรก.ฉุกเฉินในมือ ออกกฎหมายหรือกฎระเบียบในเรื่องนี้เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ขณะนี้ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงจะทำอะไรก็ต้องรีบทำ เพราะในยามวิกฤต สิทธิส่วนบุคคลต้องมาหลังความปลอดภัยสาธารณะ"นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย