ธุรกิจชั้นบนกำลังปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว งานบางสาขากำลังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน งานสาขาใหม่ ๆ ที่ธุรกิจยุค 4.0 ยังขาดแคลนอีกมาก ความรู้พื้นฐานในการทำงานดี ๆ คือ ความรู้ภาษาต่างประเทศ หลักสูตรปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษาไทย จำเป็นต้องรีบปรับปรุง ต้องเร่งขยายสาขาที่ตลาดแรงงานใหม่ ๆ ต้องการ ต้องลดขนาดสาขาที่ตลาดแรงงานไม่ต้องการแล้ว อันที่จริง ความรู้เฉพาะทางที่ตลาดแรงงานยุคใหม่ต้องการนั้น เยาวชนก็สามารถศึกษาหาความรู้ได้ไม่ยาก ถ้ามีนิสัยใฝ่รู้และขยันอดทน ปัจจุบันการศึกษาอยู่ในยุค 4.0 โดยผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อการสอนทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล เยาวชนจะต้องสร้างทักษะในการสืบค้นและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันมีจำนวนมาก ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการค้นหาและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ถ้าเยาวชนมีจิตใจอย่างข้างต้น ก็จะสร้างตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานยุค 4.0 ได้ม่ยาก และถ้ายิ่งมีพื้นฐานความรู้ในแขนงที่เรียน และความรู้ภาษาต่างประเทศดีพอสมควร ก็ไม่น่าห่วงว่าจะหางานอาชีพไม่ได้ แต่เยาวชนไทยอีกจำนวนมาก มิได้สนใจใฝ่หาความรู้และพัฒนาตัว บางส่วนที่ผู้ปกคองมีกำลังส่งเสียให้จบปริญญา ก็สักแต่ว่าเรียน ๆ ไปให้จบ ความรู้ความสามารถจึงไม่มีตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ต้องทำงานกินเงินเดือนต่ำกว่าระดับปริญญาตรี บางส่วนที่ด้อยโอกาส ขาดแคลน ไม่ได้เรียนตามระบบโอกาสจะหาความรู้พัฒนายกระดับตนเองก็น้อย น่าห่วงว่าเศรษฐกิจไทยยุคอนาคตนั้น คนไทยส่วนใหญ่อาจจะกลายเป็นผู้ขายแรงงานระดับล่างกันเกือบหมด ซึ่งต่อ ๆ ไ ป ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และฐานะเศรษฐกิจก็จะยิ่งหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ชนชั้นล่างก็จะดิ้นรนยกรับฐานะเศรษฐกิจของตนยากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐจะต้องสร้างโอกาสให้ชนชั้นล่างได้รับการศึกษาให้มากที่สุด จะต้องสร้างพลเมืองส่วนข้างมากให้มีฐานะเป็นชนชั้นกลาง กรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) จะต้องเน้นที่การจัดการศึกษา กรอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน คือ ความมั่นคง , การสร้างความสามารถในการแข่งขัน , การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ,การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม , การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม , การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จะบรรลุสำเร็จได้จริง ต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีเป็นรากฐานก่อน