โรงพยาบาลรามาธิบดียกระดับตรวจโควิด-19 เชิงรุกด้วยตัวอย่างน้ำลาย ตอบโจทย์ตรวจได้ง่าย ตรวจได้มาก ตรวจได้ไว ลดอัตราการแพร่ระบาด รับชีวิตวิถีปกติใหม่ ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย เราได้เห็นความพยายามของทุกภาคส่วนในการร่วมช่วยกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะผลกระทบจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ส่งผลปากท้องของคนจำนวนมาก ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งจะประกาศแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศทางอากาศโดยไม่ต้องกักตัว หากเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด คือมาจากกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ มีผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง และผ่านการตรวจเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย รวมทั้งได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับสู่วิถีชีวิตปกติใหม่ และที่สำคัญจุดประสงค์ก็เพื่อฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง การจะให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตปกติวิถีใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นคืน จำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ แน่นอนหนึ่งในนั้นก็คือ การเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ภาครัฐเองพยายามที่จะจัดหา และกระจายวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศในทุกกลุ่ม ขณะเดียวกัน การตรวจคัดกรองเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ จะต้องถูกนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดโอกาสการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ควบคู่ไปกับการรักษามาตรการส่วนบุคคลอย่างการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เป็นต้น ผลการศึกษาโดย Harvard T.H. Chan School of Public Health และ University of Colorado Boulder ระบุว่า การตรวจที่ทราบผลเร็ว และทำได้บ่อยครั้งสามารถทำให้อัตราการแพร่ระบาดลดลงได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งหากทำได้ควบคู่ไปกับการรักษามาตรการส่วนบุคคลตามที่กล่าว ก็อาจจะทำให้เราค่อยๆ ทยอยฟื้นคืนกิจกรรมต่างๆ ได้ เราจะไม่ต้องมีการปิดร้านอาหาร บาร์ ร้านค้าปลีก หรือโรงเรียนกันอีก “การค้นพบในภาพรวมของเรา เมื่อพูดถึงเรื่องสาธารณสุขคือ แม้ว่าการทดสอบนั้นจะมีความละเอียดต่ำ แต่สามารถทราบผลได้ในวันนี้เลย จะเป็นการดีกว่าการทดสอบที่ละเอียดสูงกว่า แต่ต้องรอผลถึงวันพรุ่งนี้” แดเนียล ลาร์เรมอร์ ผู้ช่วยศาตรจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของ CU Boulder กล่าว การศึกษานี้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดการณ์ผลของการตรวจคัดกรองประเภทต่างๆ ในสถานการณ์สมมติ 3 สถานการณ์ ได้แก่ คนทั่วไป 10,000 คน ในสภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัย 20,000 คน และในเมืองที่มีประชากร 8.4 ล้านคน โดยกลุ่มหลังสุดพบว่า การตรวจที่ทราบผลเร็ว และทำในวงกว้างสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สามารถลดอัตราการแพร่เชื้อลงได้ถึงร้อยละ 80 ในขณะที่การตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) สามารถลดอัตราการแพร่เชื้อได้เพียงร้อยละ 58 ด้วยระยะที่ต้องรอผลนานถึง 48 ชั่วโมง ล่าสุด คณะแพทยศาตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งได้รับมอบ “เครื่องตรวจวิเคราะห์แอนติเจนต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 แบบอัตโนมัติ Lumipulse G1200 ด้วยตัวอย่างน้ำลาย” จากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 เครื่อง จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจเชิงรุกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจด้วยตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งทางคณะฯ ได้พัฒนามาโดยตลอด อ. ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความร่วมมือครั้งนี้เริ่มจากที่ทางคณะฯ ทราบว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีการใช้เครื่องตรวจนี้อย่างกว้างขวางในการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่สนามบินหลักมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทางซีพี ออลล์ได้เข้ามาหารือและก็เห็นพ้องว่าน่าจะเป็นประโยชน์ จึงร่วมกันนำเข้ามาซึ่งจะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพ และยื่นเรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อให้ได้มาใช้ “เครื่อง Lumipulse G1200 นี้ เป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยการตรวจแอนติเจน ซึ่งทุกคนก็คงทราบกันดีว่าการตรวจแอนติเจนสามารถใช้ชุดตรวจ ATK ได้ แต่เครื่องนี้มีสารความไวที่สูงกว่า ถ้าเทียบระหว่าง Lumipulse G1200 กับ ATK จะมีความไวมากกว่า 100 เท่า ถ้าเทียบค่าความไวมากกว่า 98% ค่าความจำเพาะ 100% ฉะนั้นถ้าเครื่องนี้รายงานว่าเป็นผลบวกก็คือ 100% แต่ถ้าเป็นลบก็คือเฝ้าระวัง แต่อาจจะเฝ้าระวังน้อยกว่า ATK ทั่วไป” อ.ดร.เอกวัฒน์ กล่าว นอกเหนือจากความแม่นยำสูง และใช้ตัวอย่างตรวจเป็นน้ำลายซึ่งสามารถเก็บได้ง่ายด้วยตนเอง ลดความเสี่ยงต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจจะต้องใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงสูงแล้ว Lumipulse G1200 ซึ่งเป็นเครื่องอัตโนมัติ ยังสามารถรับตัวอย่างส่งตรวจได้ครั้งละถึง 120 ตัวอย่าง สามารถบอกผลได้ในระยะเวลา 30-40 นาที จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการตรวจคัดกรองกลุ่มใหญ่ๆ อาทิ โรงเรียน โรงงาน สถานประกอบการ ซึ่งมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องไม่เพียงบอกผลว่าพบ หรือไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่บอกผลเป็นตัวเลขให้ทราบปริมาณเชื้อที่มีอยู่ได้ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ร่วมกับอาการทางคลินิกอื่นๆ ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมมากขึ้น “หน่วยงาน หรือองค์กรใดที่สนใจก็สามารถติดต่อมาทางศูนย์บริการพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ โดยเราจะมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้คำแนะนำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องจัดคนออกไปเก็บตัวอย่าง เพราะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และตัวอย่างน้ำลายนั้นเคยทำการทดลองตั้งไว้ที่อุณหภูมิปกติถึง 48 ชั่วโมง ก็ยังสามารถนำมาตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่องนี้ได้ผลแม่นยำ ดังนั้นเป็นการลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด” นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ต่อยอดทำการวิจัยประยุกต์ใช้เครื่อง Lumipulse G1200 ในการตรวจน้ำเสีย เพื่อหาสัญญาณการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในที่ต่างๆ ถือเป็นการป้องกันเฝ้าระวังการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ “การประยุกต์ใช้เครื่องนี้ในการตรวจน้ำเสีย มาจากการวิจัยในต่างประเทศซึ่งมีข้อมูลว่า ที่ใดก็ตามที่จะเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 น้ำเสียที่ออกมาจากระบบจะมีเชื้อปนเปื้อนมาด้วย เราก็เลยมาตั้งเป็นงานวิจัย โดยก่อนนี้เราเก็บตัวอย่างน้ำเสีย แล้วมาสกัดแยกเป็นตัวอย่าง ซึ่งใช้เวลานาน และสิ้นเปลืองแรงงานคนมาก พอมีเครื่องนี้เลยสามารถขยายผลงานวิจัยต่อได้ เช่น ไปเก็บน้ำเสียทุกๆ ชั่วโมง 3 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมง มาตรวจ โดยการตีความก็คือ หากตรวจพบเชื้อก็จะเป็นการเตือนว่าพื้นที่นั้นๆ เริ่มจะมีการระบาด ก็จะได้เข้าไปป้องกันควบคุมได้ก่อนที่จะลุกลาม” หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดท้าย ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของการควบคุมการแพร่ระบาด กับการตรวจคัดกรองที่เชิงรุกที่มากเพียงพอ มาจากโรงงานผลิตผ้าคลุมรถยนต์แห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการที่พนักงานครึ่งติดเชื้อโควิด-19 แต่สามารถลดยอดการติดเชื้อให้เหลือ 0 (สกัดการติดเชื้อเพิ่ม) ได้ภายใน 36 วัน และรักษาตัวเลขสีขาวไว้ด้วยการยึดมาตรการใส่หน้ากากอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง ล้างมือ จัดการการระบายอากาศในโรงงานและใช้ ATK ตรวจเชิงรุก จากการเปิดเผยของ Zero Covid Thailand นำโดย ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ นักสื่อสารงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และนายธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมบริษัทชั้นนำ และเจ้าของเพจ “Airborne มองจากมุมวิศวกร” ได้ลงพื้นที่โรงงาน ที.เอส.เค.โฮลดิ้ง ใน ต.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ “จุดเริ่มต้นของโครงการคือได้ให้ความรู้เรื่องโควิด-19 กับความอบอวลของละอองลอยซึ่งเป็นช่องทางการติดต่อของโรค ทางเจ้าของโรงงานฟังแล้วก็ได้สั่งให้ระบายอากาศทั้งโรงงานทันที จึงติดต่อไปพูดคุยและทราบว่าโรงงาน TSK มีพนักงานติดเชื้อถึง 14 คน (คิดเป็น 50%) ในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดย 2 คนในนั้นอาการหนักด้วยภาวะเชื้อลงปอด” ม.ล.รังษิธรเล่าที่มา ขณะที่ นายธนะศักดิ์ ได้ขยายความถึงกระบวนการตั้งแต่ลงพื้นที่วันที่ 20 ก.ค. ว่า เริ่มต้นด้วยการตรวจคัดกรองเชิงรุก ให้พนักงานทุกคนเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดภายในโรงงาน อบรมเพิ่มเกี่ยวกับการใส่หน้ากากป้องกันละอองลอย ย้ำให้พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา โรงงานมีมาตรการทุกจุด เช่นจุดล้างมือ แอลกอออล์ฆ่าเชื้อ และการเว้นระยะห่างทางสังคม เปิดหน้าต่างรับลมเข้าออกเพราะเชื้อสามารถแพร่ทางอากาศได้จนในที่สุดก็สามารถควบคุมได้ และสามารถรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ได้กว่า 100 วันแล้ว จะเห็นได้ว่าการตรวจคัดกรองเป็นมาตรการที่สำคัญจริงๆ และยิ่งหากเรามีเครื่องมือที่สามารถทำการตรวจคัดกรองให้คนจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่นเดียวการวางแนวทางในการวิจัยต่อยอดของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เราก็จะสามารถทราบสัญญาณเพื่อป้องกันได้ก่อนปัญหาจะลุกลาม เช่นนี้แล้วโอกาสในการเปิดประเทศตามมาตรการของรัฐบาล และการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางสังคมตามปกติแบบวิถีใหม่ของคนไทยอีกครั้งก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม