วันที่ 15 ต.ค. 2566 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรี และคณะได้ไปตรวจเยี่ยมโรงผลิตน้ำประปาเทศบาลนครพิษณุโลก บึงตะเครง อ.บางระกำ เพื่อติดตามแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้มลิง ที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติในพื้นที่อื่นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 8.19 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 60.48 %

โดยนายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ติดตามนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพิษณุโลกด้วย เปิดเผยเพิ่มเติมถึงแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบของ จ.พิษณุโลก เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ว่า ขณะนี้กรมชลประทานดำเนินงานในโครงการบางระกำโมเดลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันรับน้ำเข้าพื้นที่แล้ว 180,643 ไร่ คิดเป็น 68.16 % ปริมาณน้ำ 362.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90.62 % และแผนเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ทุ่งบางระกำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิม 400 ล้าน ลบ.ม เป็น 550 ล้าน ลบ.ม. ขยายพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในการรับน้ำเข้าทุ่งเก็บไว้ใช้ทำการเกษตรช่วงหน้าแล้ง หรือส่งเสริมอาชีพอื่นในช่วงระหว่างงานได้ด้วย
    
นอกจากนี้ ยังได้เสนอแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำทั้งระบบส่งของจังหวัดพิษณุโลกเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาว มีโครงการสำคัญแบ่งเป็น ระยะเร่งด่วนปี 2567 ระยะกลางปี 2568-2569 และระยะยาวปี 2570-2573 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำสาขา เช่น การก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำยมฝั่งขวา ในการเก็บกักน้ำ ระบายน้ำ และพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทาน โครงการเพิ่มศักยภาพการส่งน้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เป็นต้น

 

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์อุทกภัยในแม่น้ำยมสายหลักในเขต อ.บางระกำ ว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 5-10 ซม. ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมน้ำที่ผ่าน อ.บางระกำ ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่ชุมชนน้อยที่สุด แต่ด้วยปริมาณน้ำจากฝนที่ตกต่อเนื่อง จึงยังมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.บางระกำ ต.ท่านางงาม ต.บางระกำเมืองใหม่ ต.ชุมแสงสงคราม ต.วังอิทก ขณะที่แม่น้ำยมสายเก่าในเขต อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ สถานการณ์เฝ้าระวัง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยควบคุมระดับน้ำที่มาจาก จ.สุโขทัย ผ่านคลองเมม-คลองบางแก้ว ไม่ให้เกินศักยภาพ 200-250 ลบ.ม./วินาที ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำกรมชลประทานในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยริมตลิ่งแม่น้ำยมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง