ชาวไทยใหญ่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกันจัดกิจกรรมแห่จองพาราหรือปราสาทพระ เพื่อรับเสด็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ปีนี้มีขบวนแห่จากหมู่บ้านต่าง ๆ เข้าร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีกันอย่างคึกครื้น

วันที่  28 ต.ค.66  ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อเวลา 19.30 น.ของคืนวันที่ 27 ต.ค.66 นายเชษฐา โมสิกรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย น.ส.มัลลิกา  จีนาคำ  นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมกับชุมชนในเขตเทศบาลและประชาชนจากหมู่บ้านต่าง  ๆ และสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน  แห่จองพาราในงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด หรือประเพณีออกพรรษาของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีประชาชนทั้ง 6 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ จัดทำจองพาราประดับประทีบโคมไฟอย่างสวยสดงดงาม พร้อมด้วยข้าวตอกดอกไม้ ผลไม้นานาชนิดตามฤดูกาลในพื้นที่  รวม 11 ชุมชน  เข้าร่วมขบวนแห่กันอย่างคึกคัก มีการฟ้อนรำ ฟ้อนไต ฟ้อนนก และเต้นจำลองรูปสัตว์ต่าง ๆ   และรำไตจากสาวชาวไทใหญ่ทุกเพศทุกวัยกว่า 500 คน ขบวนได้เริ่มต้นจากหอนาฬิกาหน้าศาลากลางจังหวัด แห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ และไปสิ้นสุดที่บริเวณสีแยกไฟแดงกลางเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการต้อนรับการเสด็จกลับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามความเชื่อในเทศกาลออกพรรษา

สำหรับ การแห่จองพาราของชาวไทยใหญ่หรือชาวไตในแม่ฮ่องสอน จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ดหรือประเพณีออกพรรษา  เนื่องจากชาวไทยใหญ่มีความเชื่อว่า ช่วงเข้าพรรษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จกลับมายังเมืองมนุษย์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือย 11 ทั้งเทวดาและมนุษย์ ต่างมีความยินดีปรีดา  จึงได้ จัดทำจองพาราหรือปราสาทพระ เพื่อต้อนรับการเสด็จกลับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  โดยแต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชน ช่วยกันจัดทำจองพาราหรือปราสาทเสมือนวิวานบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงแห่แหนไปตามถนนในเขตเทศบาลเป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้า  

ทั้งนี้ "จองพารา" เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า "ปราสาทพระ" มาจากคำว่า "จอง" แปลว่า วัด หรือปราสาท และคำว่า "พารา" แปลว่า พระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้า การบูชา จองพารา คือ สร้างปราสาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา

ซึ่งประเพณีบูชาจองพาราของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นประเพณี ที่สำคัญ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อความสุขของตนเอง ได้บุญกุศล และความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว และหมู่บ้าน ครอบครัวใด หมู่บ้านใดได้จัดทำ จองพาราบูชาพระพุทธเจ้า เชื่อว่าครอบครัวจะมีความสุข ส่งผลไปถึง การประกอบอาชีพ  และ หมู่บ้านใดได้ช่วยกันจัดทำจองพาราบูชาไว้ ที่วัดประจำหมู่บ้านตลอด 7 วัน หลังวันออกพรรษา มีความเชื่อว่าทุกคนในหมู่บ้าน จะมีความสุขกันทั่วหน้า และส่งผลไปถึงการประกอบอาชีพของคนใน 

โดยจองพารา หรือปราสาทพระ ทำด้วยโครงสร้างไม้ไผ่ แล้วบุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีลวดลาย เจากระดาษสี กระดาษเงิน กระดาษทอง ตั้งบูชา บนร้านสูง ห้อยผลไม้ ประดับไฟ สว่างไสวตลอด 7 วัน   ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนใหญ่ ๆ  ส่วนเข่งหรือฐาน ส่วนตัวจองพารา (ตัวจองพารามีส่วนประกอบอีก 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนปราสาท และส่วนยอด) และเครื่องห้อง หรือเครื่องบูชา