รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล เหลืออีกเพียง 6 วันเท่านั้น “การลงประชามติ” กับ “ร่างรัฐธรรมนูญปี….” จะเกิดขึ้นอย่างลุ้นระทึก เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างคาดการณ์กับต่างๆ นานาว่า “ผ่าน-ไม่ผ่าน” ทั้งนี้จะผ่านหรือไม่นั้น ขอสารภาพว่า “ฟันธง!” ไม่ได้ เหตุผลเพราะว่า “การวิพากษ์วิจารณ์” พร้อมทั้ง “การแสดงออก” ของต่างกลุ่ม ทั้งกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ “กลุ่มพรรคการเมือง-กลุ่มนักการเมือง” ที่ต้องสร้างกระแสนิยมห้ามตกเทรนด์อย่างเด็ดขาด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็หมายความว่า “ต้องสร้างกระแส” ตลอดเวลาเพื่อให้ประชาชนจำพรรคและหน้าตนเองได้ ทั้งๆ ที่ถูกเรียกปรับทัศนคติหลายครั้งในอดีต แต่ปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)” ก็ค่อยๆ ผ่อนคลายการเรียกปรับทัศนคติ แล้วเรียกว่า อยากวิพากษ์วิจารณ์ก็ว่าไปเพียงแต่ “อย่าก้าวร้าว รุนแรง” และไม่สำคัญเท่ากับ “บิดเบือน-โกหก” จนเกินเหตุ ก็จะมีการถกเถียงกันระหว่าง “กลุ่มสนับสนุน” กับ “กลุ่มต่อต้าน” เท่านั้น อย่างไรก็ตาม “โค้งสุดท้าย” ที่แน่นอน “ฝุ่นตลบ!” ที่ต่างมีการแสดงออกรณรงค์อย่างเปิดเผยว่า “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” จนทั้งรัฐบาลและคสช.ก็ออกมาบอกว่า “ถ้าประกาศล้มก็ร่างใหม่” หรือ “อาจนำฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงแก้ไข” ซึ่งอาจทำประชามติหรือไม่ยังไม่ทราบได้ เพียงแต่ว่า “สัญญาว่าเลือกตั้งแน่ปี 2560” ตาม “โร๊ดแม๊ป!” เพราะฉะนั้น เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น จริงๆ แล้วถามว่าประชาชนมีจำนวนมากหรือไม่ ที่ยังอาจไม่เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 279 มาตรา ก็ต้องตอบว่า “น่าจะยาก!” ที่จะเข้าใจทุกมาตรา แม้แต่ผมเองยังสารภาพเลยว่า ต้องนั่งอ่านอย่างดีอย่างถ่องแท้ เพียงแต่ว่า ประเด็นสำคัญน่าจะหนีไม่พ้น หนึ่ง ทำไมต้องมีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ทำไมไม่เลือกตั้ง คำตอบก็คือ เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ในอดีตมีการนินทาว่า “พรรคการเมือง” พรรคหนึ่งลงทุนจ้างส.ว.ไว้ในกระเป๋าประมาณ 80 คน เพื่อช่วยผ่านกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯ มาแล้ว แต่ถ้าไม่ผ่านวุฒิสภารัฐบาลต้องลาออก สอง ทำไมส.ว.สรรหาต้องมีอายุ 5 ปี เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีถึงสองสมัย ซึ่งอาจมีอำนาจมากเกินไป โดยอาจเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ก็ได้ สาม ทำไมนายกรัฐมนตรีต้องสามารถเป็น “คนนอก” ทำไมไม่เลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหมือนในอดีต ในกรณีนี้นับว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ระบบการเมืองไทยมันสลับซับซ้อนและซ่อนเงื่อนมาก โดยเฉพาะ “ธุรกิจการเมือง” ที่บรรดา “นายทุนพรรค” ต้องการเป็นหัวหน้าพรรค และถ้าพรรคตนเองได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนฯ ตนเองหรือแกนนำจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง “อำนาจ” จะมีมากมายมหาศาลดังเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต สี่ ทำไมการกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี ถึงได้ยาวนาน และสมาชิกวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร พร้อมรัฐบาลต้องกำกับดูแลมิให้ตกจากโร๊ดแม๊ป ห้า สิทธิและเสรีภาพประชาชนมีมากน้อยเพียงใด กรณีนี้ประชาชนยังสงสัยอยู่ เพียงแต่ต้องศึกษาและพิจารณาอย่างถ่องแท้ ถามว่า ถ้าประชาชนไม่มีสิทธิและเสรีภาพแล้วทำไมถึงต้องทำประชามติ ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ โดยต้องขึ้นอยู่กับประชาชน คำถามข้อนี้ไม่น่าตอบยาก เพียงแต่บรรดาสารพัดกลุ่มที่เคลื่อนไหวนั้น อาจวิพากษ์วิจารณ์กันว่า “ตลอดการร่างรัฐธรรมนูญ เขามิได้มีส่วนร่วมเลย!” หก ทำไมพรรคการเมืองไม่มีส่วนใดๆ ทั้งสิ้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องตอบว่า เพราะถูกยึดอำนาจมาด้วยปัญหาความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เจ็ด ทำไมองค์กรอิสระถึงมีอำนาจมากมาย ในการตรวจสอบการทำงานของทั้งรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และดูเสมือนว่าต่างพุ่งเป้าไปที่ “การจับผิด” บรรดานักการเมืองทั้งหลาย แต่ทำไมสมาชิกวุฒิสภาจึงมักไม่มีมาตรการตรวจสอบ แปด ทำไมบรรดาข้าราชการทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ปลัดกระทรวงไปจนถึงอธิบดี ที่มักมีอำนาจมากในการจัดสรรงบประมาณและมีอำนาจในการใช้งบประมาณ ซึ่งทั้งประชาชนและองค์กรอิสระตรวจสอบได้แต่ก็ยากมากที่จะเข้าถึง ทั้งนี้ความจริงที่ต้องยอมรับว่า “ข้าราชการไทย” นั้นมีอำนาจอย่างมาก และที่สำคัญมีโอกาสในการกระทำทุจริตมหาศาล โดยข้าราชการเป็น “ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ” เพราะฉะนั้น “การทุจริตคดโกง” นั้นต้องร่วมมือกัน “สามฝ่าย” กล่าวคือ “ภาคการเมือง-ภาคราชการ-ภาคเอกชน” เก้า ยุทธศาสตร์ 20 ปี ในการพัฒนาประเทศนั้น ถามว่า เมื่อมีประชาธิปไตยและมีบรรดาเหล่าพรรคการเมือง มาบริหารชาติบ้านเมืองจะยึดกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่น่าจะเป็นไปได้” ขอฟันธงได้เลยว่า ต้องมีการปรับและเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน โดยอ้างว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บวกกับอาจไม่สอดคล้องกับนโยบายขอพรรคการเมืองที่ต้องการเอาใจพี่น้องประชาชน ที่เรียกว่า “ประชานิยม” สิบ ทำไมถึงมีการเรียกขาน “รัฐธรรมนูญ” ฉบับร่างนี้ว่า “ปราบโกง” อาจ “ส่งสัญญาณลบ” ต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองในเชิงอคติ ซึ่งบรรดานักการเมืองทั้งหลายทั้งค่อนข้างอึดอัด และไม่ค่อยพอใจเท่าใดนักกับฉายา “ปราบโกง!” อย่างไรก็ตาม อีกเพียงไม่ถึงสัปดาห์เท่านั้น ที่พี่น้องประชาชนต้องศึกษาและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างดีและรอบคอบ ซึ่งปัจจุบันคะแนนที่จะผ่านหรือไม่ผ่านประชามตินั้น ยังคงก้ำกึ่งอยู่เลย! การทำประชามติอาจไม่ผ่านก็ได้ ต้องถามต่อว่า “เมื่อไม่ผ่านแล้วทางคสช.มีแผนสอง แผนสามหรือไม่!” เพราะถ้าไม่มี สงสัยอย่างจับจิตว่า “ท่าจะยุ่ง!”