ดร. วิชัย พยัคฆโส [email protected] น่าดีใจกับผู้ลงทะเบียนคนยากจน จะได้อานิสงส์จากรัฐบาลหลายล้านคน แม้ว่าจะได้ 3,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท และรายได้เกิน 30,000 – 100,000 บาท ได้ 1,000 บาทก็ตาม จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนได้อีกหลายรอบแถมรัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มอีก แม้ว่าจะมีบางกลุ่มการเมืองตีความว่าเป็นประชานิยม แต่หากเอาเงินของประชาชนไปช่วยประชาชนที่ยากไร้โดยตรง ยังดีกว่างบประมาณสูญเสียไปกับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองที่มีข่าวคราวในอดีต เป็นตัวเลขแสนๆ ล้านเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นมา 3.2 % แล้ว น่าจะมีขึ้นไม่มีลงในขณะที่รัฐบาลเน้นการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะงบประมาณที่จมอยู่ในหน่วยงานราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ การใช้เงินไม่ทันมาตรการในแต่ละไตรมาส ภายใน ธ.ค. 59 หากใช้เงินหรือลงนามผูกพันไม่ทัน รัฐบาลจะได้เงินคืนกลับไปพัฒนาอย่างอื่นเป็นแสนล้าน ทำอย่างนี้ทุกปีจะเกิดผลดีต่อการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ น่าดีใจกับยุทธศาสตร์สร้างชาติ 20 ปี ด้วยการขับเคลื่อนด้วยกำลังคนที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแผนในการพัฒนากำลังคนทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา วิเคราะห์ความต้องการให้สถาบันการศึกษาแต่ระดับผลิตกำลังคนด้านใด สาขาใด ปีละเท่าใด หรือ 3 – 5 – 10 ปีเท่าใด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่เคยมีข้อมูลเหล่านี้ให้สถาบันอุดมศึกษาได้วางแผนไว้ก่อนเลย การขาดข้อมูลเพื่อการพัฒนากำลังคนตามความต้องการของชาติ จึงมักจะพิจารณากันแต่ละสถาบัน จนมีมหาวิทยาลัยเป็นร้อยต่างแย่งชิงนักศึกษากันข้ามปี ทำให้การผลิตกำลังคนออกไปไม่มีงานทำ ก็มาก ไม่ตรงกับความต้องการก็มากเป็นการสูญเปล่าในการลงทุนด้านการศึกษารัฐบาลถือว่าการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลของรัฐ ควรต้องมีแผน 20 ปี ไว้รองรับยุทธศาสตร์เสียก่อน เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาไว้วางแผนการผลิตกำลังคนโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาต้องการผลิตกำลังคนตามกลุ่มของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยวิจัย ผลิตกำลังคนที่เป็นนักวิจัย มหาวิทยาลัยของรัฐ ผลิตกำลังคนตามความต้องการเพื่อพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผลิตกำลังคนเฉพาะทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏ ผลิตกำลังคนเพื่อชุมชนและท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คงกำลังจัดทำแผนพัฒนาอุดมศึกษา 15 ปี ฉบับที่ 2 กันอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยเฉพาะด้านเกษตร อุตสาหกรรมและสังคม รองรับกับเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล หากมีแผนชัดเจนความสูญเปล่าในการ จัดการศึกษาจะลดน้อยลง สถานการณ์ปัจจุบันกำลังมีปัญหาที่ว่างในมหาวิทยาลัยนับแสนที่นั่ง ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งเลิกจ้างอาจารย์และอาจปิดกิจการ เพราะนักศึกษาน้อยลงและการกู้เงิน กยศ. มีข้อจำกัด เป็นส่วนหนึ่งที่จะกระทบกับการจัดการศึกษาของประเทศ จึงอยากเห็นมาตรการและแผนพัฒนาการศึกษาในเชิงปฏิบัติมากกว่าแผนตัวชี้วัด ที่ไม่มีมาตรการเชิงปฏิบัติ