วันนี้ (20 ธ.ค.59) ที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อ.ศาลายา จ.นครปฐม เวลา15.09 น. มีการรับมอบไม้จันทน์หอมแปรรูปจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม รับมอบจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายวีระ กล่าวว่า หลังจากสำนักช่างสิบหมู่รับมอบไม้จันทน์หอมแปรรูปแล้วดำเนินการจัดสร้างพระโกศจันทน์ ซึ่งขณะนี้มีการขยายลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการจัดทำโครงโลหะ จากนั้นจะขัดไม้เขียนลาย ก่อนฉลุลายไม้ รวมทั้งหมดกว่าหมื่นชิ้น และจะนำไปผนึกเข้าด้วยกันกับโครงโลหะ นอกจากนี้ จะมีการนำไม้จันทน์อีกส่วนมาจัดสร้างดอกไม้จันทน์สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่10 และพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตามนอกจากทีมช่างสิบหมู่ที่มาร่วมทำงานแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ยังเปิดให้สถานศึกษาที่มีการสอนเกี่ยวกับช่างฝีมือ รวมถึงประชาชนที่มีฝีมือเสนอตัวเข้ามาช่วยงานจัดสร้างพระโกศจันทน์ได้ด้วย ขณะนี้มีผู้สนใจเสนอตัวร่วมทำงานแล้วกว่า 100 ราย ซึ่งกรมศิลปากรจะดำเนินการคัดเลือกผู้มีฝีมือเพื่อทำหน้าที่ผู้ช่วยช่างสิบหมู่ต่อไป คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ไม้จันทน์หอมที่แปรรูปแล้วจำนวน 1,461 แผ่น ที่ได้รับมอบทั้งหมดจะถูกนำไปจัดสร้างพระโกศจันทน์ ฐานรองพระโกศจันทน์ ช่อดอกไม้จันทน์ จำนวน 7 แบบ ฟืนไม้จันทน์ 24 ท่อน และยอดพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ โดยลวดลายจะใช้ฉลุไม้จันทน์หอมในครั้งนี้ ประกอบด้วย ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีลายกลางเป็นครุฑ ลายหน้ากระดาน (ประจำยามก้ามปู) ลายดอกไม้ไหว ลายเฟื่องอุบะลายกลีบขนุนเทพนม ซึ่งแกะสลักเฉพาะเทพ ลายกระจังลายประจำยามลูกฟักก้ามปูลายแข้งสิงห์ ลายบัวถลา ลายบัวหงายและลายปลีกย่อยอื่นๆ นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโสกลุ่มศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ กล่าวว่า แนวคิดในการออกแบบพระโกศจันทน์ครั้งนี้พัฒนาแบบมาจากพระโกศจันทน์ รัชกาลที่ 6 และพระโกศจันทน์ รัชกาลที่ 8 ซึ่งการออกแบบลายครั้งนี้มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง เนื่องจากได้เพิ่มลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งตรงกลางเป็นพระครุฑ ส่วนประกอบรอบฐานรองพระโกศจันทน์ และลายบัวกลีบขนุนเทพพนม ส่วนประกอบรอบพระโกศจันทน์ เมื่อนำทั้งสองส่วนมาประกอบกันจะกลายเป็นเทพยดาทรงครุฑ และเมื่อเสร็จสมบูรณ์จะมีความวิจิตรงดงามสมพระเกียรติที่สุด.