“กรมชลฯ-ประมง” เร่งระดมช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้ง ส่งหน่วยเคลื่อนที่กระจายน้ำทั่วประเทศ ลำเลียงเครื่องสูบน้ำ รถขนน้ำ เครื่องจักรกล พร้อมอุปกรณ์เกือบ 5 พันชุด เมื่อวันที่ 8 มี.ค.62 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมเตรียมการรับมือภัยแล้ง และพิธีปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง ณ บริเวณสนามฟุตบอล (น้ำแก้จน) กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายอนันต์ กล่าวว่า ตามที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัว ตระหนัก และเตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำฐานข้อมูลปริมาณน้ำทั้งประเทศ ความต้องการใช้น้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นรายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ทั้งในการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักรในการช่วยเหลือหากประสบภาวะขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมในวันนี้ได้มีการรายงานผลการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/62 (1 พ.ย.61-7 มี.ค.62) มีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ แบ่งเป็น 1.อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 47,141 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 23,599 ล้าน ลบ.ม. 2.อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 2,696 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 2,310 ล้าน ลบ.ม. และ3.ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ นำมาใช้ได้ 1,138 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 27,047 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ "วันนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ปล่อยคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ลงไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบภัยแล้ง ตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรและประชาชน อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นย้ำและกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำให้ตลอดรอดฝั่งในช่วงแล้งนี้ ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 และจากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจึงได้มีการเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร ลงไปในพื้นที่เพื่อบรรเทาภัยแล้งในเบื้องต้น รวมทั้งมีแผนการติดตามสถานการณ์และรายงานผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับทราบในทุกวันจันทร์อีกด้วย"ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ตามนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและบรรเทาแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจัดการน้ำในพื้นที่เพียงพอต่อความต้องการ ยังเตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร ในการช่วยเหลือหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ เช่น รถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่นๆ โดยจัดส่งเพิ่มเติมจากส่วนกลาง เครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำจำนวน 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 527 เครื่อง รถขุดจำนวน 499 คัน เรือขุดจำนวน 69 ลำ รถบรรทุกจำนวน 511 คัน รถบรรทุกน้ำจำนวน 106 คัน รถแทรกเตอร์จำนวน 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร จำนวน 7 อัน พร้อมปฏิบัติการได้รวดเร็วทันที ขณะที่ นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีสภาพอากาศที่แล้งแห้ง และบางพื้นที่มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยลักษณะเช่นนี้จะทำให้ในช่วงเวลากลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ จากสภาวะดังกล่าวอาจทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนการให้ความช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ 1.การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง 2.การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3.การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วย