ใกล้ถึงวันลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญกันแล้ว “นักรู้” ทั้งหลายออกมาแสดงความคิดเห็นโน้มน้าวคนอื่นให้คิดเหมือนตน เพราะถ้าไม่อยากโน้มน้าวใคร ก็ไม่จำเป็นต้องพูดต้องเขียนออกมา ถึงยามตัดสินใจกันแล้ว ยังไง ๆ ก็นึกถึงสถานการณ์ตอนเกิดรัฐประหารกันบ้าง การยึดอำนาจ การมีอำนาจ เป็นเรื่องยาก แต่การรักษาอำนาจไว้...ยากกว่า อำนาจเดียวที่มีหลักประกันความมั่นคง คือ “อำนาจแห่งธรรม” แต่อำนาจแห่งธรรมกับประชามติ มิใช่สิ่งเดียวกัน “ประชามติ” ยังอาจผิดพลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งที่ส่งให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลายเป็นประมุขของเยอรมนีในที่สุด อำนาจแห่งธรรมดูจะอธิบายเป็นรูปธรรมยากเหลือเกิน และต้องใช้เวลาพิสูจน์กันนานทีเดียว คำว่า “ธรรม” หรือ “ธรรมะ” โดยทั่วไปคนจะมองหมายถึงเรื่องดี ด้านดี คือ “กุศลธรรม” แต่โดยตัวศัพท์เอง มันหลายถึงเรื่องทุกเรื่อง สิ่งทุกสิ่ง จึงต้องมีคำขยายว่า “กุศลธรรม” กับ “อกุศลธรรม” อำนาจแห่งธรรมในที่นี้ ก็ต้องหมายถึง อำนาจของกุศลธรรม คสช. ปฏิบัติตามอำนาจแห่งธรรมหรือไม่ คำตอบคงแตกต่างกันออกไปมากทีเดียว แต่เราก็ขอติงไว้หน่อยว่า อย่าเพิ่งสรุปฟันธงกันตอนนี้เลย ต้องใช้ระยะเวลาพิสูจน์กันอีกยาว คสช. ประกอบกุศลกรรมไว้เป็นส่วนใหญ่ อกุศลกรรมเป็นส่วนน้อย จึงยังคงมีอำนาจแห่งธรรมรักษาตัวอยู่ จะรักษาได้ยาวนานไหม ? นั่นก็ต้องติดตามดูว่า คสช.ประกอบกุศลกรรมมากขึ้นหรือเปล่า ? หากปรับแก้ท่าที นโยบาย ที่มันสองแง่สองง่าม มีส่วนจะสร้างอกุศลกรรมให้กับชาติและมวลมหาชนให้ถูกต้องดีขึ้น ผลแห่งกุศลกรรมก็จะคุ้มครองรักษา “อำนาจ” ของ คสช. ต่อไป ที่เขียนให้ย้อนนึกถึงสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร ก็ต้องการให้ย้อนความรู้สึกขณะนั้นว่าเรารู้สึกกันอย่างไร เราจะไม่ถาม คนที่รู้สึกดี รู้สึกสนุกสนาน รู้สึกภูมิใจ ดีใจ กับสถานการณ์ตอนนั้น เพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว แต่เราอยากถาม คนทั่ว ๆ ไป ว่ารู้สึกอย่างไรตอนนั้น แล้วตอนนี้ท่านจะตัดสินใจอย่างไร กับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ?