หวั่นน้ำประปาคนกทม.ปนเปื้อน ชาวบ้านเชียงรากใหญ่ยื่นหนังสือค้านโรงไฟฟ้าขยะ กกพ.ยืนยันหากผิดกฎหมายไม่อนุญาตแน่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อาคารจตุรัสจามจุรี ชั้น 19 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มชาวบ้านประมาณ 50 คน จากตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกพ. เพื่อคัดค้านการออกใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจรและโรงไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 3 โรง มีกำลังผลิตรวม 25 เมกกะวัตต์ บนพื้นที่ 140 ไร่ นายทวีศักดิ์ อินกว่าง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า การที่ชาวบ้านขอให้ยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ตำบลเชียงรากใหญ่ ไม่ได้ต้องการคัดค้านนโยบายด้านพลังหรือการจัดการขยะของรัฐบาล เพียงแต่เป็นการชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าขยะไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากในรัศมี 3 กิโลเมตร มีทั้งชุมชน วัด โรงเรียน และมหาวิทยาลัย อีกทั้งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า คลองย่อย 21 คลอง และมีคลองไทรและคลองบัวอยู่ติดกับโครงการ จึงเสี่ยงที่จะมีน้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำดิบ ที่เป็นแหล่งเก็บน้ำดิบของการประปานครหลวง เพราะอยู่ห่างเพียง 1.5 กิโลเมตร พื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าจึงถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวและไม่เหมาะกับการตั้งโครงการหรือเป็นแหล่งอุตสาหกรรม นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิตไม่ถึง 10 เมกกะวัตต์ ซึ่งกฎหมายยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) แต่ยังมีหลักการปฏิบัติงานในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม(COP) ที่ใช้ควบคุม ซึ่งระบุว่า พื้นที่ตั้งต้องไม่อยู่ในแหล่งน้ำดิบ และมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในปี 2531 ได้กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปานครหลวง แต่ขณะนี้กลับมีความพยายามผลักดันโครงการจากกลุ่มทุน ผ่านช่องทางหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น และมีการนำกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ไปสัมมนา รวมไปถึงพบความผิดปกติการขายที่ดินโครงการ ที่เดิมเป็นที่ดินของนายบรรหาร ศิลปอาชา ต่อมาได้ขายต่อให้นายเสวก ประเสริฐสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงรากใหญ่ ก่อนจะมีการขายต่อให้แก่บริษัทซุปเปอร์เอิร์ธ เอนเนอร์ยี (ปทุมธานี) จำกัด ทำให้เห็นว่ากลุ่มทุนต้องการต้องการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่แห่งนี้ ด้านนายวรพรรษ มีลาภ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กกพ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นขอใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่ จึงยังไม่มีการพิจารณาใดๆ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยขอข้อมูล ซึ่งได้มีการชี้แจงไปแล้ว จึงไม่ต้องการให้ชาวบ้านวิตกกังวลใจ เนื่องจากหากมีการยื่นขอใบอนุญาตจะต้องมีการพิจารณาเป็นขั้นตอนตามหลัก COP โดยเฉพาะการทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และคำนึงถึงผลกระทบด้านต่างๆ ที่สำคัญหากผิดข้อกฎหมายก็ไม่สามารถให้ใบอนุญาตได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามข้อห่วงใยที่นำเสนอในวันนี้ กกพ.จะรับไว้พิจารณา หรือเพื่อนำไปเป็นข้อมูลเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาต่างๆ