ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกันเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว เรื่องนี้มีแต่จะต้องเดินหน้าไป ไม่ควรถอยหลังหรือละทิ้งเสีย ไม่ต้องกลัวว่า จะเป็นเหมือนสหภาพยุโรป เพราะหลักการที่ได้วางไว้ขณะนี้ จะไม่นำพาไปแบบสหภาพยุโรป เอาแค่อุดมการณ์ที่ได้วางไปแล้วแค่นั้น พยายามพัฒนาให้ได้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ช้า ๆ ไม่ต้องเร่งเร้า ก็เป็นผลดีต่อภูมิภาคแล้ว ความเป็น “ประชาคม” ของสมาชิกอาเซียน ยังจะต้องพัฒนาปรับปรุงอีกมาก สภาพความเป็นจริงของแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก และสถานการณ์สากลก็กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อน ประชาคมอาเซียนจะต้องเคารพความเป็นอิสระของสมาชิก ต้องยึดมั่นหลักการเอื้ออาทร ร่วมกันสร้างความเจริญมั่งคั่งพร้อมกัน ความสามัคคีจึงจะแน่นเหนียว สมาชิกทุกประเทศควรรู้จักตนเอง คือเข้าใจภาวะความเป็นจริงของตนเอง พยายามทำความเข้าใจเพื่อนบ้าน เอาใจเขามาใส่ใจเรา ในโลกยุคไร้พรมแดน ที่อภิทุนข้ามชาติกำลังแสวงหาแหล่งทำกำไรในประเทศด้อยพัฒนา แผนพัฒนาอภิโครงการทั้งหลายล้วนกำหนดจาก “อภิทุน” “เขา” กำลังมาจัดการกับ “เรา” “เรา” ในที่นี้หมายถึงสมาชิกประชาคมอาเซียนทั้งหมด “เรา” จะต้องมีสำนึกรู้ตัว ! รักษามิตรใกล้ ระวังป้องกันศัตรูไกล ประชาคมอาเซียนนั้นมีสามเสาหลัก แต่คนทั่วไปรวมถึงหน่วยงานราชการเองยังมักกล่าวถึง เสาหลักเสาเดียว คือ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC” แล้วก็เรียกชื่อประชาคมอาเซียนผิด ๆ ว่า AEC อยู่ตลอดไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข อีกทั้งยังมักไม่ให้ความสำคัญต่อ เสาหลัก “ประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” ทั้ง ๆ ที่ “ความเข้าใจวัฒนธรรม” ของกันละกันในหมู่ประเทศสมาชิกประชาคมมีความสำคัญสูงสุด ภารกิจที่ถูกกำหนดไว้สำหรับ “ประชาสังคมวัฒนธรรมอาเซียน” คือจะต้องร่วมกันกำหนด “อัตลักษณ์อาเซียน Asean Identity” ขึ้นมา แต่เรื่องนี้ยังมีความคืบหน้าน้อย หากดูผิวเผิน อาจจะเห็นว่าวัฒนธรรมในประเทศอาเซียนแตกต่างกันมาก เช่นเรื่องศาสนาที่กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตมีความต่างกัน แล้วจะหา Identity ได้ตรงไหน ? เราขอเสนอให้พยายามพิจารณาดูรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิมก่อนที่ศาสนาใหญ่ ๆ เช่น พุทธ พราหมณ์ อิสลาม คริสต์ ของโลกจะแพร่มาถึงอาเซียน วัฒนธรรมตรงนั้นแหละได้วางรากฐานอะไร ๆ ที่ร่วมกันของสมาชิกประชาคมอาเซียนทั้งหมด เช่น วิถีการผลิตเลี้ยงชีพหลักใหญ่คือ “วัฒนธรรมข้าว” , สถาปัตยกรรมที่พักอาศัยคือ “เรือนเสาสูง” , มีความเชี่ยวชาญทางน้ำและการใช้เรือ , มีความเชี่ยวชาญเรื่องโลหะสำริด , วัฒนธรรมร่วมทางดนตรีคือ “วัฒนธรรมฆ้อง” ซึ่งสืบต่อจากมโหระทึก , จักรวาลวิทยา Cosmology โลกประกอบด้วยสามส่วน “ฟ้า – ดิน-น้ำ/ใต้น้ำ” , วัฒนธรรมพิธีศพ เช่นการสวดส่ง “ผีขวัญ” ของผู้ตายกลับเมืองฟ้า การฝังศพครั้งที่สอง ฯลฯ หากช่วยกันค้นคว้านำเสนอให้เป็นที่ยอมรับ ก็จะเป็นจุดที่สร้างความสามัคคีได้ดีมาก หากช่วยกันค้นคว้านำเสนอให้เป็นที่ยอมรับ ก็จะเป็นจุดที่สร้างความสามัคคีได้ดีมาก