นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการดำเนินการของพรรค หลังผลการประชามติติมีผลเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าขณะนี้ก็ต้องดูว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอนุญาติให้พรรคประชุมได้หรือไม่ ซึ่งจะมีการแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วง รวมถึงต้องร่างกฎหมายลูกด้วย ตนก็เลยไม่ทราบว่า คสช. จะมีนโยบายอย่างไร แต่ในส่วนของพรรคแล้ว ก็ต้องมองไปข้างถึงปัญหาของประเทศ เศรษฐกิจ ความขัดแย้ง การคอรัปชั่น เรื่องปฏิรูป ซึ่งตนคิดว่าการที่ประชาชนเห็นชอบก็เป้นเพราะต้องการให้เรื่องเหล่านี้เดินไปข้างหน้า และนี่คือโจทย์ที่ทางพรรคก็ต้องรับไป ในส่วนที่ กรธ. เตรียมขอความเห็ฯในการร่างกฎหมายลูกนั้น ก็ต้องรอว่าจะมีการขอความเห็นอย่างไร ซึ่งการร่างกฎหมายลูก ก็จะเป็นไปตามหลักของรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าหลายเรื่องตนไม่แน่ใจว่าจะสามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรมก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างเรื่องโครงสร้างของพรรคเป็นต้น แต่พรรคก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล เมื่อถามว่าผลที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่าประชาชน ยอมรับให้ คสช. บริการประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าประชาชนต้องการเดินหน้า และอาจมีความพอใจต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการเห็นความวุ่นวายความขัดแย้งอีก ซึ่งนักการเมืองทุกพรรคก็ต้องมองย้อนกลับไปและทบทวน เมื่อถามอีกว่าผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า ตัวเองคิดผิดหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จุดยืนของตนก็ยังไม่เปลี่ยน ถึงจะทราบผลการทำประชามติล่วงหน้า แต่จุดยืนที่ตนแสดงเป็นความเห็นที่สุจริตต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประชาชนตัดสินใจเช่นนี้ตนก็ยอมรับ เมื่อถามถึงกรณีที่สถานการณ์บ้านเมือง ที่มีปัญหาเรื่องการแสดงความเห็น ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านด้วยความชอบธรรมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อมีการจัดทำประชามติ ซึ่งเมื่อวานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็อยากให้ทุกฝ่ายอมรับ ขณะเดียวกันฝ่ายที่ดูแลบ้านเมือง ก็คงต้องคิดด้วย เนื่องจากประชาชนที่ไปใช้สิทธิยังต่ำกว่าเป้า และแม้ว่าเสียงที่ไม่เห็นชอบจะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ผู้มีอำนาจก็ต้องรับฟังเขาด้วย ต้องพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกคนเหล่านี้ด้วย ซึ่งตนได้บอกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานว่าให้ทุกฝ่ายยอมรับผลประชามติที่เกิดขึ้น อย่านำไปสุ่ความขัดแย้ง และอย่าสร้างเงื่อนไข ขอให้มองไปข้างหน้ามากกว่า เมื่อถามต่ออีกว่าความขัดแย้งที่ซุกซ่อนอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะถูกกดโดยกติกาต่างๆของ คสช. จะทำให้เดินหน้าไปอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าเมื่อ คสช. ได้เดินหน้าตามกติกานี้ พร้อมคำถามพ่วง คสช. ก็สามารถเดินตามแนวทางที่วางไว้ได แต่ที่ตนย้ำ เพื่อให้คิดถึงคนทุกคน เพราะในอดีต บ้านเมืองที่เกิดปัญหามาก จากเสียงข้างมาก ไม่ยอมให้พื้นที่ หรือรับฟังเสียงข้างน้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญหนึ่ง ตนเชื่อว่าทุกคนจะประคับประครองสถานการณ์ไป และเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่การลงคะแนนจะมีแพ้ชนะ หรือมีอารมณ์ แต่การจะหลุดพ้นจากความขัดแย้งเดิมๆ ต้องมองไปข้างหน้า มองถึงอนาคตร่วมกัน ในส่วนกระแสบางจังหวัดที่ว่าฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรลงเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็แล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคน ที่ผ่านมาตนแสดงจุดยืนก็เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน ความห่วงใยต่อความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในโครงสร้าง และความห่วงใยในมาตรการการปราบปรามทุจริตครัปชั่น ไม่มีส่วนใดไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่ภาคใต้มีคะแนนเห็นชอบมากนั้น ตนก็ไม่ได้กังวล เพราะเคารพทุกวามเห็น เข้าใจในความรู้สึกของประชาชนที่ตัดสินใจ ความจริงผลที่ออกมา ถ้าเราไปดูในรายจังหวัด จะพบว่าคะแนนต่อคำถามพ่วงจะใกล้เคียงกับการทำประชามติปี 50 จะชัดเจนมากหากวิเคราะห์ถึงผลคะแนน จึงไม่แปลกอะไร เพราะภาคใต้เองก็มีผลคะแนนก็คล้ายกับประชามติปี 50 เพียงแต่คะแนนที่รับร่างรัฐธรรมนูญจะลดลงมา มีที่พลิกไปเลยก็คือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเรื่อที่น่าเป็นห่วง เพราะเท่าที่ติดตาม ปัญหาในพื้นที่อาจสะท้อนถึงความข้องใจ ติดใจ ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งเป็นเรืองที่ละเอียดอ่อน ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าคะแนนนิยมชองพรรคจะลดลงน้อยกว่าคะแนนนิยม กปปส. นั้น ตนไม่ได้คิดว่าเรื่องการลงคะแนนประชามติ จะเป็นเรื่องของพรรคหรือกลุ่มการเมือง ประชาชนตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานความต้องการ ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร หากไปสรุปเช่นนั้น เหมือนกับจะไม่จดจำการทำประชามติปี 50 เดือน ส.ค. ฝ่ายที่รับชนะ ร้อยละ 57 ต่อ ร้อยละ 43 แต่ในอีก 3 เดือนต่อมาพรรคการเมืองที่ไม่รับก็ชนะการเลือกตั้ง ตนเข้าใจในการตัดสินใจลงคะแนนในแต่ละครั้ง ว่ามีปัจจัยเฉพาะ ซึ่งตนก็รับฟังความรู้สึกและอารมณ์ เพื่อปรับแนวทางของพรรคเช่นกัน ยืนยันว่าอุดมการณ์ของพรรคยังมีจุดยืนเหมือนเดิม เมื่อถามถึงกรณีที่ในพรรคมีความเห็นต่าง เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ จะมีการดำเนินการอย่างไร อีกทั้งความเห็นต่างของสมาชิกพรรคบางส่วน จะทำให้จะทำให้พรรคแตกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนก็ได้บอกตลอดว่า เคารพความเห็นของทุกฝ่าย ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตา พรรคการเมืองและนักการเมืองจะต้องยึดถืออุดมการณ์ ถ้าเราไปสนับสนุนพรรค หรือนักการเมืองที่ไม่สนใจอุดมการณ์ใดๆเลย ส่วนตัวมองว่าอันตรายมากว่า ดังนั้นตนจึงเคารพจุดยืนและความเห็นต่าง เพราะเราเองก็ไม่ได้ไปขัดแย้งหรือต่อสู้กับใคร และไม่ได้รณรงค์ใดๆด้วยซ้ำ หากแต่เป็นสิ่งที่เราแสดงไป ถึงแม้ว่าตนจะทราบผลล่วงหน้า ตนก็ต้องแสดงจุดยืนเช่นนี้ และเคารพ น้อมรับ การตัดสินใจของประชาชน เมื่อถามย้ำว่าในพรรคที่มีสมาชิก เป็นแกนนำ กปปส. ร่วมอยู่ด้วย จะสามารเดินหน้าพรรคต่อไปได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในส่วนของพรรคก็เป็นเรื่องของผู้บริหารพรรค และสมาชิกพรรคทุกคน ที่มี่ส่วนต้องช่วยกัน ทำให้พรรคเป็นที่ยอมรับ เป็นที่พึ่งหวังขอประชาชน โดยรับฟังเสียงของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องทำ