เสรี พงศ์พิศ

 Fb Seri Phogphit

ขณะที่น้ำท่วมหนักภาคเหนือภาคอีสาน พรรคการเมืองก็ไม่ได้สรุปบทเรียน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นทุกปีที่ผ่านมา สนใจแต่เมกะโปรเจกต์ สถานบันเทิงครบวงจร ที่มีบ่อนกาสิโน บอกว่าหาเงินเข้าประเทศ 

โดยไม่สนใจว่า จะแก้ปัญหาเกษตรกรอย่างไร คงอาศัยเงินดิจิทัลหมื่นบาทเยียวยาเป็นยาแก้ปวด รอให้รัฐบาลหาเงินจากโครงการยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย จะได้มีเงิน “แจก” มากกว่านี้ เฉพาะหน้าเห็นว่าอยากให้ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เกษตรกรไม่เอาด้วยก็ต้องถอย

ปัญหาเมืองไทยไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าฝนมากฝนน้อย พายุมาหรือไม่มาก็มีปัญหาหมด ทั้งแล้งทั้งท่วม เพราะไม่มีระบบการจัดการ ชลประทานมีน้อย ครอบคลุมพื้นที่เกษตรเพียงร้อยละ 20 และเกือบครึ่งอยู่ในภาคกลาง ภาคอื่นๆ ต้องพึ่งเทวดา น้ำมาก็ท่วม ไม่มาก็แล้ง 

ปัญหาโลกร้อนกำลังส่งผลไปทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคเกษตรกรรม ซึ่งคนที่มีวิสัยทัศน์อย่างบิลล์ เกตส์ ซื้อที่ดินที่รัฐเนแบรสกาหลายแสนไร่เพื่อพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เพราะเขามองว่า สิ่งสำคัญที่สุดในอนาคตไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องอาหาร เรื่องการเกษตร

ประเทศไทยโชคดีที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีดิน มีน้ำ มีแดด ปลูกอะไรก็ขึ้น เลี้ยงอะไรก็โต มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชผักสมุนไพรที่เป็นอาหาร เป็นยามหาศาล

ประกาศจะเป็นครัวของโลก อาหารเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ก็ได้แต่เด็ดยอดเอาที่ใครๆ เขาทำไว้ ไม่ได้ส่งเสริมกระบวนการผลิตอาหาร การแปรรูป การพัฒนาสมุนไพร ปล่อยให้ต่างชาติวิจัย เอาไปจดสิทธิบัตร

ประเทศไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ส่งออกอาหารทะเลอันดับที่ 8 ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ทั้งๆ ที่ปลาทูน่าสดนำเข้าเกือบทั้งหมด จากไต้หวัน เกาหลี ปาปัวนิวกินี

คนไทยมีศัยภภาพมากกว่านี้มากถ้าหากมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะส่งเสริมคนเล็กๆ การประกอบการเล็กๆ SMEs  วิสาหกิจชุมชนในการผลิตวัตถุดิบไม่ใช่แต่อาหารทะเล แต่อะไรที่เราปลูกเลี้ยงได้เอง ซึ่งมีมากมาย ก็ได้แต่ราคาขายดิบขายสด ไม่มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่า

คนที่เห็นโอกาสและฉกฉวยเพราะมีปัจจัยทุน เทคโนโลยีและกฎหมายเกื้อหนุน คือ ทุนใหญ่ทั้งหลาย ที่ใช้ “ชาวบ้าน” เป็นแรงงานให้ผลิตวัตถุดิบให้ในราคาถูก เป็นแรงงานลูกจ้างค่าแรงต่ำ

การรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการ งบประมาณ และการไม่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้พัฒนาการประกอบการในเรื่องอาหาร ทั้งการผลิตและการแปรรูป

ตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดที่ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลายปีก่อน มีการทำแผนแม่บทชุมชน ชาวบ้านทำข้อมูลต่างๆ ในแบบ “ประชาพิจัย” พบว่า มีการซื้อพริกแกงสำเร็จรูปจากตลาดเป็นเงินหลายแสนบาทต่อปี ชาวบ้านพบว่า นอกจากจะแพงแล้ว ยังอาจมีสารตกค้าง สารกันบูดอะไรอื่นอีก

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงลงมือทำเอง เพราะคนเก่งๆ ฝีมือดีมีหลายคน เอาวัตถุดิบที่ปลูกเองมาใช้ ปลอดภัย และอร่อยกว่า คนปลูกก็ได้ขาย ผู้บริโภคก็ได้ซื้อราคาถูกและสดใหม่ทุกวัน กลุ่มแม่บ้านทำขายไม่ทัน เวลามีงานบวช งานศพ งานแต่ง ยิ่งต้องทำจำนวนมาก เป็นรายได้ให้ชุมชน เรือล่มในหนองเงินทองไม่หายไปไหน

เล่าเรื่อง “ท่าข้าม” เพื่อจะบอกว่า การส่งเสริมการเกษตรต้องเริ่มจากชุมชน ให้ผลิตเอง บริโภคเองเป็นหลักก่อน เหลือจึงขาย แปรรูป ส่งไปให้โรงงาน

หรือตัวอย่างของหมู่บ้นที่คูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ชาวบ้านรวบรวมผักที่ปลูกเหลือกินที่บ้าน เอามารวมกัน ให้คนเฒ่าคนแก่มาช่วยกัน (มีรายได้วันละหลายสิบบาท) จัดมัดรวมเป็นกำเล็กๆ แล้วส่งไปขายตลาดในเมือง ขายกำละบาท เอาไปเท่าไรก็หมด จนผู้ว่าฯ มาจัดที่ขายให้ฟรี และขอให้ขึ้นราคา เพราะถูกเกินไป

พรรคการเมืองไทย รัฐบาลไทย ชอบท่องคาถาว่า “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” มองไม่เห็นความสำคัญของคนเล็กๆ และงานเล็กๆ ที่มีคุณค่ายิ่งใหญ่ ไม่รู้ว่า “เศรษฐกิจฐานราก” ที่ท่องกันแปลว่าอะไร

ประเทศในยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 2-3 ของประชากร แต่มีสมาชิกในกระบวนการเกษตร ซึ่งเป็นคนในอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายสิบล้าน มีพลังอย่างยิ่งทางการเมือง ที่พรรคการเมืองใดไม่สนใจ ไม่มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนไม่มีทางได้รับเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาล

พรรคการเมืองใดแก้ปัญหา “น้ำ” กับ “พลังงาน” ให้การเกษตรได้ พรรคนั้นจะมีอนาคตอย่างแน่นอน เพราะไทยจะผลิตอาหารได้พอเพียงเลี้ยงตนเองและเป็นครัวของโลก จะส่งออกอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

แต่เพื่อจะไปถึงขั้นนั้น เราต้องใช้ความรู้ ต้องส่งเสริมการวิจัยและพัฒนามากกว่าที่ทำอยู่เป็นร้อยเท่า ไม่ใช่มีทุนกะปริดกะปรอย (ไม่พอยาไส้) ไปให้สถาบันอุดมศึกษา แทนที่จะเอางบประมาณไปทำเมกะโปรเจกต์ ที่อ้างว่าจะทำห้จีดีพีโต เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยไม่คิดถึงการเกษตรที่จะให้ผลยั่งยืนกว่า

ที่ผ่านมาและเป็นอยู่ เราเอาจีดีพีไปขึ้นกับการท่องเที่ยว  ก็เห็นแล้วว่า สามปีที่เกิดโควิดนั้น บ้านเมืองเป็นอย่างไร ถ้ามีการพัฒนาการเกษตรก่อนนั้น เราคงไม่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถ้วนหน้ากันขนาดนี้ เพราะไม่ว่าจะเกิดปัญหาโรคระบาด ปัญหาสงคราม ปัญหาอะไร ทุกคนยังต้องกินอาหาร

ความรู้เรื่องน้ำ เรื่องพลังงานมีในเมืองไทยและทั่วโลก ถ้าหากรัฐบาลสนใจส่งเสริมการเกษตรจริงก็หาความรู้ นำมาพัฒนาให้เกษตรกรบ้านเรามีน้ำมีไฟใช้ เพราะน้ำก็มี แดดก็มาก แต่เราใช้ไม่เป็น ถ้าใช้ก็ผูกขาดโดยสามประสาน นักการเมือง นายทุน ข้าราชการ ทำให้บ้านเมืองไม่พัฒนาไปไหน

“อาหารและพลังงาน” คือข้อสรุปของอี เอฟ ชูมาเคอร์ ในหนังสือ “เล็กนั้นงาม” (Small is Beautiful) เมื่อ 50 ปีก่อน หลังจากที่เขาไปเป็นที่ปรึกษาให้นายกรัฐมนตรีอูนุ ของพม่า ประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ไทย เคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าว และมีข้าวคุณภาพดีกว่าไทย

แต่เมื่อแย่งชิงอำนาจกันมา 50 ปีไม่เลิก บ้านเมืองก็เป็นอย่างทุกวันนี้ ที่ไทยก็กำลังเลียนแบบ หลายประเทศพัฒนาข้าวปลาอาหารก้าวหน้ากว่าไทยแล้ว เพราะเรามัวแต่แย่งชิง “ชามข้าว” กัน