รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร อยู่ในสถานะที่ถูกดดันรอบด้าน ที่น่ากังวลแต้มต่อการเมืองภายในประเทศ และเวทีโลก จากสมรภูมิช่องบก
ต้นฉบับนี้เขียนขึ้นก่อนที่จะทราบผลการประชุมร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ในคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม หรือ Joint Boundary Committee หรือ JBC
แต่อยากจะย้อนมุมมองข้อคิดของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ที่เขียนบทความผ่านโลกโซเชียลเอาไว้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ในหัวข้อ “ JBC GBC RBC ไม่ใช่คำตอบสำหรับกัมพูชาและไทย: แล้วอะไรจะช่วยให้ไม่ต้องรบกันอีก”
มีใจความโดยสรุปว่า แม้ไทยไม่ต้องการสงคราม แต่จำเป็นต้อง “เตรียมพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่” เพื่อยับยั้งการรุกคืบทางทหารและความเคลื่อนไหวของกัมพูชาในพื้นที่พิพาทชายแดน
รศ.ดร.ปณิธาน เสนอให้ไทย “สร้างความไม่สะดวก” หรือแรงกดดันหลายด้านต่อกัมพูชา เพื่อบีบให้ถอนกำลังทหารและอาวุธที่ได้รับจากจีนออกจากพื้นที่ ไม่ใช่เพียงแค่ “กลับหัวนอน” ตามที่กัมพูชาเคยอ้าง
นอกจากนี้ยังระบุว่า หากกัมพูชาไม่ให้ความร่วมมือ ไทยควรพิจารณายกเลิกกรอบเจรจาเดิม เช่น JBC, GBC, RBC, TBC แล้วร่วมกันจัดทำกรอบใหม่ที่เข้มแข็งกว่าเดิม แม้จะส่งผลกระทบในระยะสั้น แต่จะเกิดประโยชน์กับไทยในระยะยาว
ในด้านยุทธศาสตร์เชิงบวก รศ.ดร.ปณิธาน แนะให้ไทยพัฒนาแรงจูงใจใหม่ ๆ ที่โปร่งใส เช่น การลงทุนพลังงาน การค้าชายแดน และการร่วมปราบปรามแก๊งอาชญากรรมข้ามพรมแดน เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
“หากทำได้ ไทยกับกัมพูชาจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เล่นเกมการเมืองที่มีแต่ความสูญเสียเหมือนในอดีต 75 ปีที่ผ่านมา”
หลายฝ่ายพยายามที่จะชี้ทางออก และช่วยกันคิดเพื่อทิศทางของประเทศไทย ในอันที่จะรักษาอธิปไตย และพื้นที่สำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ และภูมิภาคเอเชีย ด้วยความหวังว่าเราจะไม่หลงเหลี่ยมหลงกลและตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบซ้ำรอยกรณีเขาพระวิหาร