ร่วมสมัย / ชะมวง พฤกษาถิ่น พระโกศจันทน์ ร.9 ในศิลปกรรมช่างฉลุลาย สัปดาห์นี้นำภาพงานช่างฉลุลายพระโกศจันทน์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มาให้ชมกันเบื้องต้น ที่ตอนนี้ช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และอาสาสมัครผู้มีฝีมือด้านฉลุไม้ กำลังดำเนินการฉลุลายนำไปประกอบพระโกศจันทน์ อยู่ที่โรงสร้างพระโกศจันทน์ ท้องสนามหลวงด้านทิศใต้ของพระเมรุมาศ กล่าวการจัดสร้างพระโกศจันทน์ หรือ พระโกศไม้จันทน์ “เป็นพระราชประเพณีมาแต่โบราณ เมื่อมีเจ้านายระดับสูงเสด็จสวรรคต พระบรมศพจะถูกอัญเชิญนำลงในพระโกศ ประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชประเพณี... ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงนั้น พระโกศส่วนนอกจะถูกเปลื้องออกเหลือแต่โกศลองในโลหะปิดทอง ซึ่งจะนำขึ้นตั้งบนจิตกาธานและหุ้มปิดด้วยพระโกศไม้จันทน์ ที่จะสร้างขึ้นในแต่ละครั้งที่มีพระราชพิธี นำขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุมาศ อันเป็นแบบอย่างมาแต่โบราณของการถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้านายชั้นสูง” (ประวัติราชประเพณีพระบรมศพ , อาวุธ เงินชูกลิ่น) การจัดสร้างพระโกศจันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 ได้นำไม้จันทน์หอมมาจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ทางอุทยานฯ นำมาแปรรูปเป็นแผ่นไม้ตามขนาดต่างๆ ส่งมอบให้กับสำนักช่างสิบหมู่ ดำเนินการฉลุลวดลายประกอบพระโกศจันทน์ และพระหีบจันทน์ การออกแบบลายประกอบพระโกศจันทน์ เป็นงานประณีตศิลป์ พิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ หนึ่งในคณะช่างฉลุลาย ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบฐานรองพระโกศจันทน์หรือพระหีบจันทน์ กล่าว (25ก.พ.60) ว่า ตอนนี้จัดทำแบบแสดงช่อและตำแหน่งลวดลายที่ประกอบติดบานพระหีบจันทน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งหมด 18 ลาย ได้แก่ บัวเชิงฐานหน้ากระดานล่าง เท้าสิงห์นมสิงห์ บัวปากฐาน ดอกไม้ไหวปากฐาน สังเวียน ช่อก้านแย่งผนัง กระจังรวน ดอกจอกหน้ากระดานบน อุบะ กระจัง ช่อไม้ไหว บัวถลา ขอบคิ้วบัวถลา กระจังฝา ช่อไม้ไหวบัวถลา กุดั่นดอกจอกฝา และเส้นคิ้วมอบขอบกุดั่นดอกจอก ฯลฯ ส่วนพระโกศจันทน์ ออกแบบโดย สมชายศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส อยู่ระหว่างจัดทำแบบและตำแหน่งลวดลาย เบื้องต้นจะอยู่ราวๆ 30 ลาย ได้แก่ กุดั่นดอกจอก กระจังฝา กระจังจวน ช่อไม้ไหวบัวถลา ขอบคิ้วบัวถลา อุบะ บัวปากฐาน ฯลฯ อย่างไรก็ดี ลายประกอบพระโกศจันทน์ทั้งหมดจะมีความชัดเจนอีกครั้ง “ทั้งนี้ หากรวมลายประกอบพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์แล้วก็น่าจะกว่า 50 ลาย และเมื่อฉลุชิ้นไม้ ซึ่งคาดว่าจำนวนชิ้นไม้ช่างต้องฉลุมีมากกว่าหมื่นชิ้น และเมื่อนำมาประกอบลายเสร็จสมบูรณ์แล้วจะงดงามตามราชประเพณีและสมพระเกียรติ์ยศสูงสุด” นายช่างพิจิตร ได้กล่าวมุมของช่างจัดสร้างพระโกศจันทน์และพระหีบจันทน์ในครั้งนี้ นอกจากช่างฉลุลายของสำนักช่างสิบหมู่ 10 คนดำเนินการแล้ว สำนักฯ ยังเปิดรับอาสาสมัครร่วมปฏิบัติงานในส่วนนี้ รวมทั้งงานศิลปกรรมอื่นๆ ประติมากรรม จิตรกรรม มีอาสาสมัครผ่านการทดสอบทักษะของแต่ละสาขาช่าง ทั้งนี้เพื่อให้งานศิลปกรรมเครื่องประกอบพระเมรุมาศ เสร็จตามแผนงานที่กำหนด “มีอาสาสมัครเข้ามาสมัครร่วมปฏิบัติงานช่างศิลปกรรมถึง 400 คน ทางช่างสิบหมู่จะรับเข้าร่วมปฏิบัติงานทุกคน เพียงแต่ทดสอบทักษะ หากมีความสามารถด้านฉลุลายอย่างดีจะให้ฉลุลายพระโกศจันทน์ แต่ถ้าฉลุไม่ผ่านจะให้ช่วยงานขัดแต่งชิ้นลายหรือประกอบลาย ส่วนอาสาสมัครช่างโลหะจะช่วยสร้างฉัตรโลหะกว่า 40 ต้น ความสูงต้นละ 10 เมตร ติดตั้งบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เช่นกัน งานด้านจิตรกรรมมีอาสาสมัคร ด้านประติมากรรมต้องการช่างฝีมือเป็นลูกมือในการลงสีไฟเบอร์กลาสสัตว์หิมพานต์ ขณะที่อาสาสมัครช่างแกะสลัก ถ้ามีฝีมือจะจัดขึ้นทำงานบูรณะราชรถ ราชยานในตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ประชาชนมีส่วนร่วมคนละเล็กละน้อย จะทำให้การจัดสร้างงานศิลปกรรมในการประกอบพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสมบูรณ์ด้วยดี และภาคภูมิใจได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9” พิจิตร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กล่าว ภาพความก้าวหน้าของงานศิลปกรรม ทั้งประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ และอาคารประกอบพระเมรุมาศ จะนำมาให้ชมกันเป็นระยะๆ ส่วนตรงนี้นำภาพงานช่างศิลปกรรมฉลุลายประกอบพระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ มาให้ชมกันบางส่วน