“เพาะช่าง”ปั้นช้าง10ตระกูลประจำ 4 ทิศ คืบหน้า80% เพิ่มลักษณะพิเศษงาอ้อมจักรวาลที่ปรากฏในพระเศวตฯ เสริมพระบารมี ประดับในสระอโนดาตจำลองป่าหิมพานต์รอบพระเมรุมาศ ความคืบหน้างานปั้นประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล ของวิทยาลัยเพาะช่าง นำไปประดับภายในสระอโนดาตที่จำลองป่าหิมพานต์รอบพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายประสิทธิ เอมทิม หัวหน้าสาขาประติมากรรมไทย ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวว่า กรมศิลปากรมอบหมายให้วิทยาลัยเพาะช่างเป็นผู้รับผิดชอบการปั้นประติมากรรมช้าง 10 ตระกูล ประจำทิศทั้ง 4 เพื่อประดับภายในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ ที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยจากการประชุมร่วมกับกรมศิลปากรครั้งล่าสุด ให้วิทยาลัยเพาะช่างปั้นช้างเพิ่มอีก 10 ตัว จากเดิม 20 ตัว รวมต้องปั้นทั้งสิ้น 30 ตัว ขณะนี้การปั้นต้นแบบคืบหน้ากว่า 80% แล้ว ขึ้นรูปได้แล้ว 22 ตัว นายประสิทธิ กล่าวการปั้นช้างประติมากรรมนี้ว่า มีแนวคิดการออกแบบยึดตามคติโบราณและรูปแบบในตำราคชลักษณ์ แสดงรูปพรรณสัณฐานของช้างตระกูลพรหมพงศ์ เป็นช้าง 10 หมู่ ซึ่งพระพรหมสร้างขึ้น ลักษณะทางกายภาพช้างเหมือนกันทั้งหมดแตกต่างกันที่สี หมู่ที่ 1 ชื่อว่า ฉัททันต์ สีขาวเหมือนสีเงินยวง หางแดง สีเท้าแดง หมู่ที่ 2 เรียกว่า อุโบสถ สีเหมือนสีทอง หมู่ที่ 3 ชื่อ เหมหัตถี สีเหลือง หมู่ที่ 4 ชื่อว่า มงคลหัตถี สีเหมือนดอกอัญชัญม่วง หมู่ที่ 5 ชื่อว่า คันธหัตถี สีเหมือนกฤษณา หมู่ที่ 6 ชื่อว่า ปิงคัล สีเหมือนตาแมว หมู่ที่ 7 ชื่อ ดามพหัตถี สีเหมือนทองแดงหล่อน้ำใหม่ หมู่ที่ 8 ชื่อ บัณฑระนาเคนทร สีขาวเผือก หมู่ที่ 9 ชื่อว่า คงไคย สีเหมือนน้ำไหล หมู่ที่ 10 ชื่อ กาฬวกะหัตถี สีดำเหมือนปีกกา ซึ่งตนได้เสนอให้นำรูปคชลักษณ์ที่มีในหมวดอื่นมาใส่ในช้างตระกูลพรหมพงศ์ด้วย เช่น งาอ้อมจักรวาล งาเอกทันต์ ที่ปรากฏในตระกูลอิศวรพงศ์นำมาผสม ซึ่งกรมศิลปากรเห็นชอบในหลักการนี้ นายประสิทธิ กล่าวอีกว่า ช้าง 10 หมู่ที่ปั้นประดับพระเมรุมาศยึดตามคติไตรภูมิ เชื่อว่ามีพละกำลังเรี่ยวแรงมากที่สุด ที่สำคัญทีมช่างสร้างสรรค์รูปแบบช้าง 10 ตระกูลให้เชื่อมโยงกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เช่น คชลักษณ์ที่นำมาใส่เป็นงาอ้อมจักรวาลที่ปรากฏในพระเศวตอดุลยเดชพาหลฯ ถือเป็นช้างคู่พระบารมีของรัชกาลที่ 9 แล้วยังมีความพิเศษช้างของพระโพธิสัตว์ ชื่อพญาฉัททันต์ เพิ่มลักษณะที่เป็นอุดมคติ ช้าง 10 ตระกูลในหมวดพรหมพงศ์สอดคล้องกับที่รัชกาลที่ 9 ได้ปกครองแผ่นดินและดูแลทุกข์สุขพสกนิกรโดยยึดหลักพรหมวิหาร 4 อีกด้วย “คาดว่าต้นแบบช้างหิมพานต์จะแล้วเสร็จปลายเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้กรมศิลปากรตรวจสอบ หากผ่านการพิจารณาแล้ว ทีมเพาะช่างจะดำเนินการทำพิมพ์ซิลิโคนและหล่อไฟเบอร์กลาสในเดือนพฤษภาคม ส่วนขั้นตอนลงสีกรมศิลปากรจะเป็นผู้ดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้ากรมศิลปากรเตรียมนัดประชุมทีมเพาะช่างและทีมช่างเพชรบุรีที่ได้รับมอบหมายปั้นสัตว์หิมพานต์ประชุมร่วมกับสำนักสถาปัตยกรรม เพี่อสรุปรูปแบบประติมากรรมหินประดับพระเมรุมาศเพื่อให้อากัปกริยาของสัตว์หิมพานต์สอดคล้องกับภูมิทัศน์โดยรวม การดำเนินงานแก้ไขปัญหาจะทำงานร่วมกันระหว่างประติมากรกับสถาปนิกเพื่อให้งานประติมากรรมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” ด้าน นายทมิฬ ศรีศิลา อาจารย์ประติมากรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ปั้นช้างกุญชรวารี ซึ่งเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ที่มีรูปร่างเป็นช้างบริเวณลำตัวมีครีบและหางเป็นปลา ดังนั้น ตนได้นำรูปแบบของวรรณคดีมาทำการปั้นประกอบกับใช้จินตนาการให้ดูสมจริง โดยปั้นให้มีลักษณะเป็นช้างเผือกที่ดูสง่างาม ส่วนบริเวณหูของช้างปั้นให้มีรอยหยักเหมือนครีบของปลา ด้านขาหน้าทั้งสองข้างใส่ครีบปลา และบริเวณหางใส่หางปลาชนิดเดียวกับปลาฉลาม ซึ่งเป็นเจ้าแห่งปลาในท้องทะเล