บรรณาลัย / โชติช่วงนาดอน ต้นเค้าการแข่งเรือยาวในอุษาคเนย์ (1) 1.การแข่งเรือยาวเป็นประเพณีที่มีประวัติยาวนานในดินแดนอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ในประเทศไทยมีความนิยมแข่งเรือยาวในงานเทศกาลหลายเทศกาล เช่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลออกพรรษา เทศกาลเดือนสิบสอง ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งเรือยาวในประเทศไทยมีอยู่มากแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องเอามะพร้าวมาขายสวนอีก บทความชิ้นนี้เป็นความพยายามที่จะขยายมุมมอง ให้มองย้อนอดีตยาวนาน และมองกว้างไกลออกไปนอกประเทศไทย เพื่อนำมาเสริมเติมข้อมูลความรู้ที่เรามีอยู่เดิม 2.ประเทศเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ทุกประเทศมีการแข่งเรือยาว ประเด็นที่ควรศึกษาเปรียบเทียบ คือความเหมือนและความแตกต่างของประเพณีแข่งเรือ สำหรับประเทศอุษาคเนย์ภาคพื้นสมุทร เรามักจะนึกว่าไม่มีประเพณีแข่งเรือยาว ทั้งๆ ที่ “เรือ” เป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตของพวกเขามาก จึงย่อมมีความสำคัญในวัฒนธรรม, ประเพณี เราจึงควรสนใจศึกษาด้วย 3.ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ชนพื้นเมืองในดินแดนใต้ลุ่มแม่น้ำฮั่นลงมา (ในประเทศจีนปัจจุบัน) ดำรงชีวิตอยู่ในภูมินิเวศที่แตกต่างจากลุ่มแม่น้ำเหลือง (หวงเหอ) อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดอารยธรรมจีนแท้ (ต่อไปจะเรียกว่า “ฮั่น”) จีนฮั่นเรียกชนพื้นเมืองเหล่านี้ ว่า ผู (ไป่ผู – ผูร้อยจำพวก) , เยวี่ย (ไปเยวี่ย – เยวี่ยร้อยจำพวก) ชื่อนี้เป็นชื่อเรียก “กลุ่มวัฒนธรรม” มิใช่ชื่อชนชาติ บรรพชนของชนกลุ่มนี้ (เก่าก่อนที่จะเกิดชื่อเรียกในภาษาจีนฮั่น) ส่วนหนึ่งเคลื่อนย้าย (ด้วยเรือ) จากดินแดนไต้หวัน ชายฝั่งทะเลฮกเกี้ยน ออกไปอยู่ตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค พวกเขาเชี่ยวชาญทางเรือมาก และเป็นชนกลุ่มแรกที่ควบคุมการเดินเรือทะเลแถบอุษาคเนย์และมหาสมุทรอินเดีย (ก่อนอาหรับ อินเดีย จีน) ปัจจุบันชนกลุ่มนี้จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (นักภาษาศาสตร์ยืนยันว่า ภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนทั้งหมด มีต้นตอจากภาษาดั้งเดิมห้าภาษาของชนพื้นเมืองในไต้หวัน) ส่วนกลุ่มชนที่อยู่บนภาคพื้นทวีป พัฒนาขึ้นเป็น “กลุ่มวัฒนธรรมไป่ผู” ซึ่งต่อมาจีนฮั่นเรียกชื่อใหม่เป็น “ไป่เยวี่ย” ชนกลุ่มวัฒนธรรมไป่เยวี่ยนี้ พัฒนาต่อมาเป็นสามกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มตระกูลภาษาม้ง-เย้า ตระกูลภาษาไท-กะได , ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค (มอญ-เขมร) ปัจจุบันนักภาษาศาสตร์ส่วนหนึ่ง และสถาบันสารานุกรมอเมริกานา Americana Encyclopedia ได้รวมตระกูลภาษาไท-กะได เข้ากับตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนแล้ว ตั้งชื่อว่า “ตระกูลภาษาออสโตรไท” Austro-Tai เป็นหลักฐานว่า ชน “ไป่เยวี่ย” และ ชนออสโตรนีเซียนมีบรรพชนดึกดำบรรพ์ร่วมวัฒนธรรมกัน นอกจากภาษาศาสตร์แล้ว หลักฐานทางวัฒนธรรมด้นอื่นๆ ก็สนับสนุนว่า ชนทั้งสองกลุ่มนั้นมีรากวัฒนธรรมตรงกัน เป็นต้นว่า - วัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ “น้ำ” จีนฮั่นบันทึกว่า ชาวไป่เยวี่ยเชี่ยวชาญทางน้ำ ชำนาญการใช้เรือ ชีวิตใกล้ชิดพัวพันอยู่กับน้ำ จึงต้อง “ตัดผมสั้น” “สักร่างกาย” (ป้องกันอันตรายจากผีน้ำหรือสัตว์ร้ายในน้ำ) - วัฒนธรรมเพาะปลูกข้าว แหล่งกำเนิดการเพาะปลูกข้าวที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในดินแดนภาคใต้ของจีนปัจจุบัน (ดินแดนของชนไป่เยวี่ย) การเลี้ยงชีวิตด้วย “ข้าว” มาตั้งแต่ 7-8 พันปีก่อน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการปลูกข้าว (ในส่วนที่เคลื่อนย้ายลงทะเลตั้งแต่ก่อนรู้จักปลูกข้าว ก็มีวัฒนธรรมอาหารอีกแบบหนึ่ง ส่วนที่เคลื่อนย้ายลงทะเลภายหลังจากรู้จักเพาะปลูกข้าวแล้ว ก็ไปพัฒนานาขั้นบันไดตามหมู่เกาะต่างๆ) เช่น การให้ความสำคัญกับธรรมชาติที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ต่อข้าว อันได้แก่ ฤดูกาลของฝนและน้ำท่า เกิดเป็นคติความเชื่อเกี่ยวกับ “ผีฟ้า” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กำกับควบคุมฟ้าฝนและน้ำท่า เช่นการเคารพบูชา “ผีฟ้า” ในชนกลุ่มมลายู (ก่อนจะรับศาสนาอิสลาม) มีคำว่า tuhan (ตูฮัน)ในภาษามลายูเก่า หมายถึง เทวดาผู้เป็นใหญ่ซึ่งอยู่บนฟากฟ้า ในทางภาษาศาสตร์คำนี้ กลายเป็นคำว่า แถง , แถน ในตระกูลภาษไท-กะได *tuhaŋ > thε:ŋ (แถง), thε:n (แถน) [ดูบทความเรื่อง “ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (4) ผีฟ้า แถน และมะโย่ง รากร่วมทางวัฒนธรรมไท-มลายู” โดย กัณหา แสงรายา สำนักข่าวอิศรา] - วัฒนธรรมเกี่ยวกับ “เรือ” สภาพแวดล้อมที่ชีวิตต้องเกี่ยวพันกับน้ำทำให้เกิดวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรือซึ่งเป็นพาหนะสำคัญ - วัฒนธรรมที่อยู่อาศัย จีนฮั่นบันทึกว่า ชาวไปเยวี่ยพักอาศัยบนบ้านที่มีเสาสูง (เรือน) - วัฒนธรรมบูชาน้ำเต้า , บูชาฆ้อง วัฒนธรรมน้ำเต้าเก่าแก่กว่าวัฒนธรรมข้าว น้ำเต้าน่าจะเป็นพืชชนิดแรกๆ ที่มนุษย์(ในดินแดนตอนใต้ของแผ่นดินจีน) รู้จักเพาะปลูก (ก่อนรู้จักเพาะปลูกข้าว) จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับความเคารพบูชา และยังเป็นสัญลักษณ์ของกายแม่ จึงมีร่องรอยตำนานว่า มนุษย์เกิดจากน้ำเต้า ทั้งโดยตรงคือมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้า และน้ำเต้าให้กำเนิดสิ่งอื่นเช่น สุนัข แล้วคนเกิดจากสุนัขอีกที และ/หรือ มนุษย์รอดชีวิตจากน้ำท่วมโลกเพราะน้ำเต้า การบูชาน้ำเต้ายังมีร่องรอยให้เห็น เช่น การตั้งน้ำเต้าบนหิ้งบูชาบรรพบุรุษของชนชาติอี๋ ในยูนนาน เครื่องดนตรี (ซึ่งสมัยดึกดำบรรพ์ใช้บรรเลงในพิธีศพ)เช่น ปี่น้ำเต้า , กลองมโหระทึก , น้ำเต้าแห้ง (ชนเผ่าในหมู่เกาะฮาวาย) ฯ วัฒนธรรมฆ้อง เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์พัฒนาเจริญจนหลอมโลหะได้เก่ง ชาวออสโตรนีเซียนที่เคลื่อนย้ายออกทะเลก่อนที่จะเกิดเทคโนโลยีโลหะ เช่นพวกโปโลนีเซียน ไม่มีวัฒนธรรมฆ้อง แต่สำหรับชาวออสโตรนีเซียนส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์ (หมู่เกาะภาคใต้ของฟิลิปปินส์ , อินโดนีเซีย , บรูไน , มาเลเซีย) มีวัฒนธรรมฆ้อง (อันต่อเนื่องจากมโหระทึก) - วัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่สอง บางแห่งมีเรื่อง “เรือ” เป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมการทำศพ ด้วยหลักฐานดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงสรุปได้ว่า ชาวอุษาคเนย์ทั้งภาคพื้นสมุทรและภาคพื้นทวีป มีรากเหง้าวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ร่วมกัน ภาพเรือยาวบกลองมโหระทึกดองเซิน